การดูแลสัตว์เลี้ยงในช่วงหน้าฝน

9672 จำนวนผู้เข้าชม  | 

 
การดูแลสัตว์เลี้ยงในช่วงหน้าฝน

สวัสดีครับคุณผู้อ่านทุกท่านพอหน้าร้อนผ่านไป หน้าฝนก็เริ่มย่างกรายเข้ามา หลายๆคนก็เริ่มมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เดี๋ยวเป็นหวัดเดี๋ยวเป็นไข้ ไม่สบายไปตามๆกันซึ่งปัญหาสุขภาพต่างๆก็ไม่เวันแม้ในสัตว์ของเรา พอสภาพแวดล้อมเปลี่ยนหรืออากาศเปลี่ยน ฝนตก ความชื้นเพิ่มขึ้น บางทีร่างกายทั้งคนและสัตว์ก็ปรับตัวไม่ทัน พลอยป่วยไข้ได้ง่ายๆนะครับ เดี๋ยวเราจะมาคุยกันเรื่องการดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงในช่วงหน้าฝนกันพอคร่าวๆ โดยผมจะแบ่งเป็นระบบต่างๆเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นและเป็นเรื่องที่เจอบ่อยๆในช่วงนี้ครับ

ระบบทางเดินอาหาร เป็นโรคที่มาพร้อมกับหน้าฝนไม่ว่าจะเป็นท้องเสีย อาหารเป็นพิษ หรือโรคที่ร้ายแรงเช่น โรคลำไส้อักเสบ ซึ่งพบได้ในสุนัขทุกช่วงอายุ ช่วงหน้าฝนมีความชื้นมากขึ้น เหมาะแก่การเจริญเติบโตของเชื้อโรค นอกจากการฉีดวัคซีนซึ่งต้องฉีดกันตามช่วงอายุแล้วหรือวัคซีนประจำปี เจ้าของต้องดูแลความสะอาดเรื่องอาหารและน้ำให้เขาด้วย อาหารเม็ดควรจะสดใหม่ ไม่เก่าหรือขึ้นรา อาหารที่ปรุงเองควรจะสะอาด สุก และไม่ค้างคืนด้วยครับ หากสัตว์เลี้ยงมีอาการผิดปกติ เช่น อาเจียน ท้องเสีย หรือซึม ควรรีบพาเขาไปพบสัตวแพทย์โดยด่วน

ระบบทางเดินหายใจ ช่วงหน้าฝน โรคที่พบบ่อยๆ ก็จะเป็นพวกไข้หวัด หลอดลมอักเสบ ซึ่งบางทีก็จะมีโรคที่รุนแรงแถมมาด้วยเช่น ไข้หัดสุนัข หัดแมว เป็นต้น เราไม่ควรปล่อยให้เขาเล่นน้ำฝนหรือตากฝน บางตัวชอบเล่นน้ำฝน อย่างสนุกสนาน พอวันต่อมาก็มีน้ำมูก ไข้ขึ้น ต้องลำบากเจ้าของพาไปหาหมอ ในช่วงนี้ เราก็ควรให้เขาได้อยู่ในที่อุ่นๆและแห้ง ไม่ชื้น ในบางครั้งถ้าตัวไหนเขาขี้หนาวอาจจะต้องหาเสื้อให้เขาใส่ ตัดเย็บเองหรือซื้อก็ได้ ให้ใส่ในช่วงกลางคืนหรือในช่วงที่ฝนตกแล้วอากาศเย็น ถ้าสังเกตว่าเขามีไอ หรือมีน้ำมูกขึ้นมา ควรจะพาไปหาหมอทันที อย่าพยายามหายาให้ทานเอง เพราะสุนัขและแมวไม่เหมือนคน ซึ่งอาจจะแพ้ยาบางตัว แล้วมีอันตรายถึงชีวิตได้

ระบบผิวหนัง หน้าฝนเป็นช่วงที่มีความชื้นสูง สภาวะอับชื้นก็เป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้เกิดโรคผิวหนังได้ง่าย อาจจะมีตุ่ม ผื่นคัน ยิ่งถ้ามีการติดเชื้อก็จะทำให้เกิดผิวหนังอักเสบ หรือเชื้อราได้ ซึ่งจะพบได้บ่อยตามบริเวณใบหูด้านใน ง่ามนิ้วเท้า รอบจมูกหรือรอบตา โดยทั่วไปโรคผิวหนังที่พบในบ้านเรา ส่วนมากจะมาจากหลายสาเหตุร่วมกัน เช่น เป็นทั้งเชื้อรา ติดเชื้อแบคทีเรีย หรือขี้เรื้อนรูขุมขนร่วมด้วย อย่างไรก็ตามเจ้าของควรจะหมั่นดูแลเรื่องผิวหนัง ขน ของเขา ต้องให้แห้ง อย่าปล่อยให้เปียก หรือชื้น หากพบว่าสุนัขมี ตุ่มคัน เกา สะบัดหูบ่อยๆซึ่งดูว่ามากผิดปกติควรจะรีบพาไปหาหมอ เพราะถ้าปล่อยไว้อาจจะกลายเป็นโรคผิวหนังชนิดเรื้อรัง ซึ่งต้องใช้เวลาในการรักษานาน รวมถึงต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาและดูแลในปริมาณที่สูงตามมา หรือไปๆมาๆ อาจจะกลายเป็นคุณตูบหนังกลับซะนี่ครับและอีกเรื่องหนึ่งซึ่งสำคัญมากในการเลี้ยงสุนัขในบ้านเราคือเรื่อง เห็บหมัด ในปีหนึ่งๆ สถานพยาบาลสัตว์ที่ผมทำงานอยู่ พบว่าสุนัขมีอาการเจ็บป่วยเนื่องจากเห็บ ในปริมาณที่มากเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าเทียบกับการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่นๆ เห็บเป็นทั้งพาหะนำโรค คือ พยาธิในเม็ดเลือดหรือไข้เห็บ และเห็บยังเป็นตัวที่ทำให้สัตว์อ่อนแอ โลหิตจาง เนื่องจากเห็บดูดเลือด ซึ่งจะส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของสัตว์ลดต่ำลงซึ่งจะทำให้สัตว์ติดเชื้อและเกิดโรคได้ง่าย ภูมิอากาศในบ้านเราร้อนชื้นเหมาะสำหรับการแพร่พันธุ์ของเห็บ ยิ่งในช่วงหน้าฝนอัตราการเจ็บป่วยเนื่องจากเห็บจะเพิ่มมากขึ้น ทั้งโรคที่เกิดจากเห็บโดยตรง และโรคอื่นอันเนื่องมาจากสัตว์อ่อนแอเพราะถูกเห็บดูดเลือด การกำจัดเห็บถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเจ้าของต้องเข้าใจ และต้องทำการกำจัดอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ใช้กำจัดเห็บหมัดมีหลายรูปแบบให้เลือก มีทั้งยาฉีด ยาอาบ ยาหยดหรือสเปรย์ ซึ่งเจ้าของควรทำความเข้าใจในการใช้ให้ถูกต้องหรือปรึกษาสัตวแพทย์ที่มีความชำนาญ หรือถ้ามีโอกาสคราวหน้าเราจะมาคุยกันเรื่องยาหรือสารที่ใช้กำจัดเห็บหมัดกัน ว่าทำอย่างไร หรือใช้ตัวไหนที่ได้ผลดีที่สุด
อย่างไรก็ตามในช่วงหน้าฝน การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด คนเลี้ยงหรือเจ้าของ ควรจะดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีก่อน เพราะถ้าคุณไม่สบายแล้ว ใครหล่ะจะดูแลเจ้าตูบและเจ้าเหมียวของคุณ.......จริงไหมครับ

ที่มา : สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย
โดย น.สพ.ไชยา คุณธรรม (อาสาสมัครสมาคมฯ)
ภาพประกอบ :
http://www.bloggang.com/

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้