การอุดและรักษารากฟันให้น้องหมาและน้องเหมียว

6505 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บทความพิเศษ...
โดย.. ทีมสัตวแพทย์ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ
 
                    การอุดและรักษารากฟันให้น้องหมาและน้องเหมียว

        
       ภาพก่อนอุด                                                                   ภาพหลังอุด
      หลายคนคงไม่เชื่อว่าสุนัขและแมวก็มีการอุดฟันและรักษารากฟันได้เหมือนกับเราๆท่านๆนี่แหละค่ะ เทคโนโลยี ทางด้านทันตกรรมสำหรับสุนัขและแมว ไม่ว่าจะเป็นการอุดฟัน ถอนฟัน และ การรักษารากฟัน พร้อมแล้วที่จะเผยโฉมในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งนวัตกรรมทางด้านทันตกรรมเหล่านี้ได้พัฒนารุดหน้าไปเป็นอย่างมากแล้วในหลายๆประเทศทั่วโลก และอีกไม่นานเกินรอ เจ้าตูบและเจ้าเหมียวทั้งหลายก็สามารถเดินแถวตบเท้ามาใช้บริการดังกล่าวได้อย่างที่ไม่ต้องทนทรมานโอดโอยกับอาการปวดฟันอีกต่อไปแล้ว การอุดฟันในสุนัขและแมว มักทำในกรณีที่ฟันผุเป็นรูแต่ยังไม่ถึงโพรงประสาทฟัน หรือในกรณีที่ฟันแตกจนถึงโพรงซึ่งมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุหรือการแทะของแข็ง วัสดุอุดฟันจะไม่ทำให้สีของฟันเดิมเปลี่ยนไป การอุดฟันในสัตว์เลี้ยงยังนิยมทำในกรณีที่มีการตัดฟันเขี้ยวแล้วอุดปิดโพรงฟัน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาฟันไม่สบกันในสุนัขพันธุ์หน้าสั้น หรือสุนัขที่ดุมาก ซึ่งการอุดฟันจะช่วยป้องกันการติดเชื้อเข้าสู่โพรงฟันได้เป็นอย่างดี กรรมวิธีในการอุดฟันเริ่มจากการกรอเนื้อฟันบริเวณที่ผุให้สะอาดและเรียบ หลังจากนั้นจึงอุดด้วยวัสดุอุด ในกรณีที่ตัดเขี้ยวก็ทำเช่นเดียวกัน แต่ใช้หัวกรอตัดฟันออกครึ่งหนึ่งก่อนแล้วค่อยลงมืออุดปิด โพรงฟัน


                 

ในส่วนของการรักษารากฟัน จะทำในกรณีที่ฟันผุถึงโพรงประสาทฟัน หรือในกรณีที่ฟันแตกแต่ไม่ได้ทำการอุดจนเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่โพรงฟันทำให้เกิดการอักเสบหรือเป็นหนองที่รากฟัน เจ้าของสุนัขและแมวสามารถสังเกตความผิดปกติได้จากสีของเนื้อฟันที่เปลี่ยนไป ขั้นตอนในการรักษารากฟันเริ่มจากการวัดความลึกของโพรงฟัน โดยใช้ลวดวัดจากตัวฟันจนถึงรากฟันแล้วถ่ายเอกซเรย์ฟันซี่นั้นๆ หลังจากนั้นจึงนำเอาเนื้อเยื่อฟันที่ตายแล้วออกจากโพรงฟันให้ได้มากที่สุด โดยใช้ลวดบางๆ ร่วมกับการ Flush ล้างโพรงฟัน หลังจากนั้นจึงซับให้แห้ง แล้วจึงเคลือบโพรงฟันเพื่อป้องกันแบคทีเรียเข้าสู่รากฟัน และตามด้วยขั้นตอนการอุดฟันโดยใช้วัสดุอุดสามชั้น แล้วทำการถ่ายเอกซเรย์ซ้ำอีกครั้งเพื่อดูความสมบูรณ์ของการอุด แล้วจึงขัดผิววัสดุอุดให้เรียบเนียน

           ความสำเร็จในการรักษารากฟันขึ้นอยู่กับ ระยะเวลาในการหักของฟัน โดยเจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องจำไว้เสมอว่าเวลาที่เริ่มสังเกตเห็นฟันที่ผิดปกติ ฟันซี่นั้นๆอาจไม่ใช่ฟันที่หักเป็นครั้งแรก อาจมีการหักของฟันมาก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนั้น การดูแลหลังจากการรักษาถือเป็นกฎเหล็กที่เจ้าของต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อให้การรักษาได้ผลเป็นอย่างดี เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรนำสุนัขหรือแมวที่เคยรักษาฟันแล้วกลับมาทำการเอกซเรย์เป็นระยะๆเพื่อเช็คสภาพของฟัน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้