บทความพิเศษ เรื่องโดย… ทีมสัตวแพทย์ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ เมื่อสัตว์เลี้ยงแสนรักของคุณเป็นโรคหัวใจ โรคหัวใจเกิดขึ้นได้ทั้งในสุนัขและแมว โดยอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติในโครงสร้างและหน้าที่ของหัวใจ หรือความผิดปกติของหัวใจตั้งแต่แรกเกิด อาการของโรคหัวใจ หรือที่เรียกว่าหัวใจล้มเหลว ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ เป็นผลให้เนื้อเยื่อและอวัยวะสำคัญต่างๆ ของร่างกายมีออกซิเจนและสารอาหารต่างๆ ไปเลี้ยงน้อยลง ซึ่งอาการอาจแสดงให้เห็นตั้งแต่แรกเกิดหรือเกิดตามมาภายหลัง อาการบอกเหตุโรคหัวใจในน้องหมา น้องแมว เจ้าของควรสังเกตอาการของสุนัขหรือแมวว่ามีอาการใดต่อไปนี้ ชนิดเป็นเรื้อรัง ถ้าพบอย่างลังเลที่จะปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อหาทางป้องกันและรักษาเพราะอาการเหล่านี้อาจบอกได้ว่า สุนัขและแมวของคุณอาจมีปัญหาโรคหัวใจ มีอาการซึมเศร้า น้ำหนักลดลง ไม่อยากกินอาหาร หรือกินอาหารได้น้อยลง ท้องกาง ไอแห้งๆ และมักไอเวลากลางคืน มีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนแรง หายใจลำบาก เหงือกซีด เป็นลมหมดสติ การวินิจฉัยโรคหัวใจ ในขั้นตอนแรกของการวินิจฉัยโรค สัตวแพทย์จะตรวจร่างกายโดยทั่วไป ตรวจหัวใจโดยใช้หูฟัง ฟังเสียงการเต้นของหัวใจ และจับชีพจร หากหัวใจมีการเต้นผิดจังหวะ สัตวแพทย์จะแนะนำให้ตรวจวินิจฉัยโรคหัวใจและตรวจการทำงานของอวัยวะอื่นๆ เช่น 1. เอกซ์เรย์ช่องอก เพื่อตรวจขนาดของหัวใจว่าโตขึ้นหรือไม่ และปอดมีความผิดปกติหรือไม่ 2. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (E.K.G.) เพื่อตรวจขนาดของหัวใจและจังหวะการเต้นของหัวใจ 3. ตรวจเลือด ตรวจโรคพยาธิหนอนหัวใจ การทำงานของอวัยวะสำคัญ เช่น ตับ ไต ฯลฯ 4. อัลตราซาวน์ เพื่อตรวจดูโครงสร้างของหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ การบีบตัวของหัวใจ เป็นต้น การรักษาโรคหัวใจ สุนัขและแมวส่วนใหญ่ที่เป็นโรคหัวใจ สามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ สัตวแพทย์จะให้ยาสำหรับโรคหัวใจ และเจ้าของต้องดูแลเรื่องการให้ยาอย่างใกล้ชิด ควรงดการออกกำลังกายหรือกิจกรรมใดๆ ที่ทำให้สัตว์เหนื่อย เนื่องจากหัวใจต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น และสิ่งสำคัญคือ ระวังในเรื่องการให้อาหารและน้ำที่มีส่วนผสมของเกลือ สัตวแพทย์อาจแนะนำอาหารที่มีปริมาณเกลือต่ำและมีโภชนะที่สมดุลย์ต่อสัตว์เลี้ยงของคุณ แนวทางการป้องกันโรคหัวใจ โรคหัวใจบางชนิดสามารถป้องกันได้อย่างเหมาะสม เช่น 1.การป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจ อย่างสม่ำเสมอ 2.ไม่ขยายพันธุ์สุนัขที่เป็นโรคหัวใจเพราะโรคหัวใจบางชนิดอาจถ่ายทอดทางกรรม พันธุ์ได้ และหากสุนัขแม่พันธุ์เป็นโรคหัวใจ จะมีความเสี่ยงในระหว่างการคลอดลูก 3. การดูแลรักษาช่องปากในสุนัข อย่างสม่ำเสมอ หากสุนัขมีหินปูนมากหรือมีการอักเสบในช่องปากอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคติดเชื้อในหัวใจได้ เพียงแค่คุณคอยดูแลเอาใจใส่และสังเกตอาการของเจ้าสี่ขาอย่างใกล้ชิด เจ้าสี่ขาของคุณก็อยู่กับคุณได้อีกนานทีเดียวเจ้าของสัตว์เลี้ยงท่านใดมีข้อสงสัยและต้องการซักถาม สามารถติดต่อขอคำปรึกษาและคำแนะนำจากสัตวแพทย์ ได้ที่โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท 55 โทร. 027126301-4 หรือโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ สาขาลาดพร้าว โทร. 02-934 1411 ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. และท่านสามารถเยี่ยมชมข้อมูลของโรงพยาบาลได้จากเว็บไซต์ www.thonglorpet.com
|