บทความพิเศษ เรื่องโดย… ทีมสัตวแพทย์ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ การเลี้ยงดูลูกสุนัข ใส่ใจเรื่องคุณค่า ตลอดจนปริมาณของอาหาร การให้อาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน จะทำให้ลูกสุนัขมีการพัฒนาการด้านร่างกายที่แข็งแรง สุขภาพดีและสมบูรณ์ ทั้งนี้การให้อาหารลูกสุนัขต้องขึ้นอยู่กับจำนวนมื้ออาหารและปริมาณอาหารที่ให้ในแต่ละมื้อด้วย น้ำที่ให้ก็ต้องใส่ในภาชนะที่สะอาด นมที่ให้ลูกสุนัขกินไม่ควรเป็นนมวัว เพราะลูกสุนัขไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสในนมได้ เนื้อเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ แต่ก็ควรให้อาหารเสริม เช่น ผัก แคลเซียม วิตามิน และกระดูกชิ้นด้วย เพื่อเพิ่มความสมดุลและสร้างความแข็งแรง ให้แก่ร่างกายของลูกสุนัข การฉีดวัคซีนให้กับลูกสุนัข ลูกสุนัขควรได้รับวัคซีน เพื่อป้องกันโรคไข้หัดสุนัข ตับอักเสบ เพราะโรคเหล่านั้นเป็นอันตรายถึงตายและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาก็สูงมาก นอกจากนี้ต้องได้รับการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นโรคสัตว์ที่สามารถติดคน และทำให้ถึงตายได้ โปรแกรมการฉีดวัคซีนลูกสุนัข
อายุ | วัคซีนที่ใช้ | ครั้งที่ | 8 สัปดาห์ | วัคซีนรวมไข้หัดสุนัข ตับอักเสบ ลำไส้อักเสบ | 1 | 11 สัปดาห์ | วัคซีนรวมไข้หัดสุนัข ตับอักเสบ ลำไส้อักเสบ | 2 | 12 สัปดาห์ | วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า | 1 | 14 สัปดาห์ | วัคซีนรวมไข้หัดสุนัข ตับอักเสบ ลำไส้อักเสบ | 3 | 16 สัปดาห์ | วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า | 2 |
ที่สำคัญ โปรดจำไว้ว่า...สุนัขของคุณจะยังมีภูมิคุ้มกันโรคไม่พอจนกว่าจะได้รับวัคซีนครบ ฉะนั้นระวังอย่าให้ลูกสุนัขไปเล่นกับสุนัขตัวอื่นที่น่าสงสัยหรือพาไปสถานที่สาธารณะอื่นๆจนกว่าจะได้รับวัคซีนครบ การถ่ายพยาธิ และป้องกันพยาธิหนอนหัวใจ
พยาธิในลำไส้ที่พบในสุนัขมี 4 ชนิด คือ ตัวตืด ตัวกลม แส้ม้าและปากขอ โดยลูกสุนัขควรได้รับการถ่ายพยาธิทุก 3 สัปดาห์ จนกระทั่งอายุ 12 สัปดาห์ ช่วงอายุ 3-6 เดือน ให้ถ่ายพยาธิเดือนละครั้ง อายุ 6 เดือนขึ้นไป ถ่ายพยาธิทุก 3 เดือน แม้แต่สุนัขที่เลี้ยงไว้ในบ้านก็ควรถ่ายพยาธิเช่นเดียวกันและหากลูกสุนัขโดนยุงที่มีเชื้อพยาธิหนอนหัวใจกัด ก็จะทำให้เป็นโรคหัวใจได้ เนื่องจากตัวอ่อนที่ติดมากับยุง จะไปเจริญเติบโตเป็นพยาธิตัวแก่และอาศัยอยู่ในหัวใจ ทั้งนี้ สามารถป้องกันได้โดยการให้กินยาป้องกันตั้งแต่ อายุ 2-3 เดือน โดยกินเดือนละครั้งไปจนตลอดชีวิต อาบน้ำดูแลขนและการควบคุมเห็บหมัดสม่ำเสมอ ควรอาบน้ำสัปดาห์ละครั้งและใช้แชมพูที่เหมาะสม ไม่ควรใช้แชมพูของคนเพราะ ค่า PH (พีเอช) ของผิวหนังคนและสุนัขไม่เหมือนกัน และควรล้างแชมพูออกให้สะอาด แล้วจึงเช็ดตัวให้แห้ง หรือเป่าด้วยเครื่องเป่าขน สุนัขบางตัวที่มีปัญหาผิวหนังและต้องใช้แชมพูยา ควรปล่อยแชมพูทิ้งไว้บนตัวสุนัขประมาณ 5-10 นาที โดยระหว่างนี้ก็ให้ชวนสุนัขเล่นแล้วจึงค่อยล้างออกให้สะอาด เมื่อขนแห้งแล้วให้แปรงขน และควรแปรงขนทุกวันเพื่อรักษาสภาพขนและผิวหนังให้ดีอยู่เสมอ เห็บหมัดเป็นต้นเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังในสุนัขได้บ่อยมาก การควบคุมเห็บหมัดจึงต้องทำทั้งบนตัวสุนัขและในสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการควบคุมเห็บหมัดมีให้เลือกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นแชมพู น้ำยาหยอดที่หลัง สเปรย์ ปลอกคอ หรือแป้ง อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหากมีข้อสงสัยในการใช้
หมั่นดูแลสุขภาพช่องฟันของลูกสุนัข ควรฝึกให้ลูกสุนัขคุ้นเคยกับการแปรงฟันตั้งแต่เล็กๆ โดยเริ่มแปรงฟันตั้งแต่ลูกสุนัขอายุ 2-3 เดือน แปรงให้ทุกวันๆละ 1 ครั้งก่อนนอน หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง เพื่อสุขภาพเหงือกและฟันที่ดีของเขาตลอดไป ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ยาสีฟันคนกับสุนัข เพราะสุนัขไม่มีการบ้วนปากแต่จะกลืนกินลงไป ซึ่งทำให้สุนัขได้รับยาสีฟันโดยเฉพาะฟลูโอไรด์มากเกินไปจนอาจเป็นพิษได้ยาสีฟันสำหรับสุนัขจะมีกลิ่นและรสชาติที่สุนัขชอบ ทำให้ง่ายต่อการแปรงฟันและในปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากสำหรับลูกสุนัขโดยเฉพาะเช่น ยาสีฟัน แปรง และปอกนิ้วสวมถูฟัน
ฝึกลูกสุนัขให้รู้จักขับถ่าย เชื่อฟังคำสั่ง และรู้จักที่นอนของตัวเอง สำหรับการฝึกลูกสุนัขควรเริ่มฝึกโดยเร็วที่สุด การฝึกให้ลูกสุนัขขับถ่าย ควรจัดที่ขับถ่ายให้อยู่นอกบ้าน และกำหนดเวลาที่จะพาสุนัขไปขับถ่าย เช่น ตอนเช้า หลังอาหาร ก่อนนอน โดยเราออกไปกับลูกสุนัขด้วยในตอนแรก และปล่อยให้เขาใช้เวลาอยู่ในที่ที่เราจัดให้นาน 5-10 นาที และชมเชยทุกครั้ง เมื่อเขาทำได้ถูกต้องอย่าลงโทษโดยการตี หากพบว่าเขากำลังขับถ่ายอยู่ในบ้านให้รีบพาเขาออกไปยังที่ขับถ่ายของเขาและต้องทำอย่างจริงจังอย่าให้เขาคิดว่าเรากำลังเล่นกับเขา การฝึกให้ลูกสุนัขเชื่อฟังคำสั่ง เช่น มานี่ นั่ง คอย ควรเริ่มเมื่ออายุ 8-10 สัปดาห์ โดยในการฝึกแต่ละครั้ง ควรใช้เวลาฝึกแค่ช่วงสั้นๆ เพราะลูกสุนัขเบื่อง่าย และเมื่อเขาทำตามคำสั่ง หรือทำได้ถูกต้องก็ให้รางวัล เช่น อาหาร หรือขนมสำหรับสุนัข ส่วนการส่งไปเข้าโรงเรียนฝึกควรเริ่มเมื่ออายุ 4-6 เดือน
หากต้องการให้ลูกสุนัขรู้ว่าที่ไหนเป็นที่นอนสำหรับเขา ควรเริ่มฝึกทันทีเมื่อมาถึงบ้าน ลูกสุนัขมักจะร้องในคืนแรกหลังจากที่ถูกแยกจากแม่และพี่น้อง ดังนั้นควรให้ลูกสุนัขนอนบนเบาะนุ่ม พร้อมกับให้ของเล่นหรือตุ๊กตา หรือเปิดวิทยุ หรือตั้งนาฬิกาที่มีเสียงติ๊กๆ เอาไว้ช่วยให้เขาสบายใจขึ้น ถ้าหากยังไม่ดีขึ้นควรเข้าไปตบหัวเขาเบาๆ และเปิดไฟทิ้งไว้ อย่าพามานอนบนเตียงกับคุณ เว้นแต่ว่าคุณต้องการเช่นนั้น เพราะหลังจากนั้นเขาจะอยู่บนเตียงกับคุณตลอดไป หากต้องการให้เขานอนนอกบ้าน ที่นอนของเขาควรมีที่กันลม ฝน แมลง และแสงแดดได้ด้วย ทำหมันให้กับลูกสุนัขแสดงความรับผิดชอบต่อชุมชน หากเราไม่ต้องการจะส่งสุนัขเข้าประกวดหรือต้องการลูกสุนัขเพิ่ม ก็ควรจะทำหมันให้กับสุนัข เพราะจะทำให้ลดปัญหาความไม่สะดวกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนสุนัขที่เพิ่มขึ้นจนทำให้ไม่สามารถเลี้ยงได้ ปัญหาระหว่างเป็นสัด ลดปัญหาท้องเทียมหรือท้องโดยไม่ตั้งใจ ลดโอกาสการเกิดเนื้องอกเต้านม การติดเชื้อ และ เนื้องอกในมดลูก ระยะเวลาที่เหมาะสมในการทำหมันทั้งตัวผู้และตัวเมียคือ 6 เดือน ถึง 1 ปี
และที่สำคัญสำหรับการเป็นเจ้าของสุนัข คือการมีความรับผิดชอบต่อสุนัขและต่อชุมชน ต้องมั่นใจว่ามีบริเวณบ้านที่สามารถให้สุนัขได้ออกกำลังกายหรือวิ่งเล่นได้เพียงพอ และมีเขตรั้วเพื่อป้องกันไม่ให้สุนัขเล็ดรอดออกไปนอกบ้านทั้งนี้เพื่อเป็นการลดปัญหาการเห่ารบกวนเพื่อนบ้านนั่นเอง การพาสุนัขไปเดินเล่นเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกายและจิตใจของสุนัข ในกรณีที่สุนัขอุจาระในที่สาธารณะเจ้าของก็ควรเก็บให้เรียบร้อย
หากคุณเอาใจใส่และปฏิบัติตามคำแนะนำเจ้าสุนัขแสนรักของคุณก็จะมีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง และอยู่กับคุณได้นานอย่างมีความสุข สำหรับท่านใดที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงของท่าน สามารถติดต่อขอคำปรึกษาจากสัตวแพทย์ ได้ที่โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ ซอยทองหล่อ โทร. 0-2712-6301-4 สาขาลาดพร้าว โทร.0-2934-1407-9 สาขาสิรินทร-ปิ่นเกล้า โทร.0-2433-7550-1 หรือติดตามข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงได้ที่ www.thonglorpet.com |