บทความพิเศษ สนับสนุนบทความโดย โรงพยาบาลสัตว์เอ็น.พี. เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินควรจะทำอย่างไร Your Guide to Dog Emergencies อุบัติเหตุทำให้เกิดกรณีฉุกเฉินเกิดได้ทุกวัน การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉินจะปลอดภัยกว่าไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อให้ท่านเจ้าของสัตว์สามารถรับมือกับเหตุฉุกเฉินเบื้องต้นได้ ก่อนจะพาสัตว์ไปพบสัตวแพทย์ เหตุฉุกเฉินเรียงตามลำดับอักษรในภาษาอังกฤษ อักษร A – B Abrasion (แผลถลอก) เป็นบาดแผลที่ผิวหนังชั้นบนๆ เช่น รอยข่วนหรือเกา ให้ตัดขนรอบๆ แผลออก ล้างแผลด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ แล้วทาด้วยยาใส่แผลสด Abscess (ฝี) เป็นถุงหรือก้อนที่มีหนองอยู่ภายใน บางครั้งฝีอาจจะแตกและมีหนองไหลออกมา ถ้าแผลเล็กหรือฝีมีขนาดเล็กให้ล้างแผลด้วย ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ แล้วทาด้วยยาใส่แผลสด มักปล่อยให้ปากแผลเปิดไว้เพื่อให้หนองได้ไหลออก และควรระวังไม่ให้สัตว์แทะหรือเลียแผล ถ้าจำเป็นให้ใส่ปลอกคอกันเลีย ถ้าฝียังไม่แตกให้ประคบร้อนวันละ 3 – 4 ครั้งครั้งละประมาณ 5 – 10 นาที เพื่อให้เลือดมาเลี้ยงที่ฝีมากขึ้น เมื่อฝีสุกคือนิ่มลงแล้วให้พาไปหาสัตวเพทย์เพื่อเจาะเอาหนองออก บางรายอาจต้องให้ยานอนหลับ และให้ยาปฏิชีวนะกิน ถ้าสัตว์อ่อนเพลียและไม่ยอมกินอาหารให้รีบพาไปหาสัตวแพทย์ Allergic reaction(แพ้) อาการแพ้อาจมีอาการตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง เจ้าของสัตว์อาจไม่ทราบว่าสัตว์มีอาการแพ้จนกระทั่งอาการรุนแรง ให้ดูอาการขั้นต้นของอาการช๊อก เช่น เหงือกซีด, หายใจเบาหรือหายใจลำบาก เป็นต้น ถ้าสัตว์มีอาการหายใจลำบากให้ช่วยการหายใจด้วยการผายปอด ถ้าพบเหล็กในให้เอาออก และระวังเรื่องการให้ยาแก้แพ้ ทางที่ดีให้รีบนำส่งสัตวแพทย์ Animal attack or Bite wounds (แผลถูกทำร้ายหรือถูกกัด) ให้ขลิบขนบริเวณแผลออกแล้วทำความสะอาดด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และใส่ยาฆ่าเชื้อเพื่อช่วยลดการติดเชื้อลง แผลที่ถูกกัดมักเจ็บปวดสัตว์อาจทำร้ายเจ้าของเพราะความเจ็บหรือความกลัวขณะทำแผล ทางที่ดีควรใส่ตะกร้อปากหรือมัดปากสัตว์ก่อนการทำแผล ทางที่ดีควรนำส่งสัตวแพทย์เพราะบาดแผลภายนอกบางครั้งอาจดูเล็กแต่ถ้าทะลุเข้าช่องท้องหรือช่องอกจะเป็นอันตรายอย่างมาก Bleeding (เลือดออกมาก) ถ้าสัตว์ของท่านมีเลือดออกมากให้กดแผลเพื่อห้ามเลือด โดยใช้ผ้าสะอาด ให้ยกส่วนที่มีบาดแผลขึ้นสูงเพื่อลดการไหลของเลือด พันแผลด้วยผ้าสะอาดและใช้ปลาสเตอร์พันไว้แล้วรีบนำส่งสัตวแพทย์ Bloat (กระเพาะพลิกหรือท้องอืดมาก) สัตว์จะกระวนกระวาย อาเจียน และช่องท้องจะบวมมากบริเวณที่กระเพาะอยู่เนื่องจากแก๊ส กรณีนี้เป็นกรณีที่ฉุกเฉินมาก ให้รีบนำส่งสัตวแพทย์ด่วนที่สุด เนื่องจากต้องทำการผ่าตัดอย่างเร่งด่วนเพื่อลดแก๊สและแก้ไขกระเพาะที่พลิก ถ้าช้าเกินไปสัตว์จะตาย Blood in stool (ถ่ายมีเลือดปน) การถ่ายมีเลือดปนมากับอุจจาระปริมาณเล็กน้อยถือเป็นเรื่องปกติสำหรับสัตว์เลี้ยง กรณีอย่างนี้ไม่ใช่เหตุฉุกเฉิน ให้ดูว่าสัตว์มีอาการเหงือกซีดหรือไม่หรือมีอาการผิดปกติอย่างอื่นหรือไม่ เช่น กินอาหารได้หรือเปล่า, มีอาเจียน, มีอาการเลือดออกบริเวณอื่นหรือไม่ Blood in the Urine (ปัสสาวะมีเลือด) ถ้าพบเลือดปนมากับปัสสาวะให้รีบพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ และเจ้าของควรสังเกตด้วยว่าสัตว์มีอาการปวดเบ่งปัสสาวะบ่อยหรือไม่ หรือมีอาการเจ็บปวดเวลาปัสสาวะ ถ้าเป็นไปได้ควรเก็บตัว อย่างปัสสาวะไปให้สัตวแพทย์ดู และควรดูว่าสัตว์ได้รับสารพิษบางอย่างไปด้วยหรือไม่ เช่น ยาเบื่อหนู Blood sugar problem (น้ำตาลในเลือดผิดปกติ) ให้ดูว่าสุนัขเบื่ออาหารหรือเพลียหรือไม่ ถ้าน้ำตาลในเลือดต่ำสัตว์จะเดินเซหรือไม่มีแรงเดิน, อ่อนเพลีย, ชัก ถ้าเห็นอาการเช่นนี้ให้รีบป้อนอาหารหรือกลูโคสให้สัตว์ แล้วรีบนำส่งสัตว แพทย์ อาการน้ำตาลในเลือดต่ำมักเกิดกับลูกสุนัขพันธุ์เล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน และสุนัขที่เป็นเบาหวานแล้วได้รับอินซูลินเกินขนาด Bruises (ห้องเลือด) มักเกิดเนื่องจากอุบัติเหตุ ถ้าเป็นไม่มากให้ใช้วิธีประคบเย็นบริเวณที่ห้อเลือดประมาณ 5 – 10 นาทีทุก 6 – 8 ชั่วโมง Burns from Chemicals (การระคายเคืองจากสารเคมี) ถ้าเห็นว่าสัตว์เลี้ยงกินสารเคมีให้รีบล้างปากด้วยน้ำ เพื่อเจือจางสารเคมีที่สัตว์กินเข้าไปซึ่งจะช่วยลดอาการระคายเคือง แต่อย่าพยายามให้สัตว์อาเจียนออก แล้วรีบนำส่งสัตว แพทย์ Burns from Heat (ถูกของร้อนลวก) ถ้าเป็นเพียงจุดเล็กๆ ให้ใช้น้ำราด แล้วทาด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อให้แผลหายเร็ว การโดนของร้อนลวกทุกชนิดให้ใช้น้ำราดหรือปล่อยน้ำก๊อกให้ไหลผ่านบริเวณที่ถูกลวกเพื่อลดอุณหภูมิบริเวณนั้นลง ไม่ควรใช้น้ำแข็งหรือแผ่นประคบเย็น หรือยาสีฟันหรือสิ่งอื่น ๆ นอกจากน้ำ อักษร C Can’t Walk or Get Up (เดินไม่ได้หรือลุกไม่ได้) ถ้าสัตว์เลี้ยงอ่อนเพลียหรือเดินเซ ให้สังเกตอาการสัตว์แล้วรีบส่งสัตวแพทย์ อธิบายสิ่งที่เห็นให้สัตวแพทย์ฟัง ถ้าสัตว์ลุกเองไม่ได้ต้องระวังในการเคลื่อนย้ายเพราะอาจจะเจ็บและกัดเจ้าของได้จากความกลัว ควรมัดปาดสัตว์ไว้ก่อน Car Sickness (เมารถ) ไม่ว่าสุนัขหรือแมวสามารถที่จะมีอาการเมารถได้ ยาที่ใช้ป้องกันอาการเมารถมีหลายตัว เช่น Diphenhydramine, Meclizine, และ Dimenhydrinate จะช่วยลดอาการคลื่นไส้ ขนาดที่ใช้ในการป้องกันอาการเมารถของ Diphenhydramine คือ 2.2 มก./กก. โดยให้ทุก 8 – 12 ชั่วโมง Carbon Monoxide (คาร์บอนมอน๊อกไซด์) เป็นก๊าซที่ไม่มีสีไม่มีกลิ่น และทำให้ถึงตายได้ คาร์บอนมอน๊อกไซด์จะไปจับกับฮีโมโกลบินในเลือด ทำให้ออกซิเจนไม่สามารถไปจับกับฮีโมโกลบินได้ ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน อวัยวะสำคัญในร่างกาย เช่น สมอง หัวใจ ขาดออกซิเจน วิธีที่ดีที่สุดคือให้สัตว์ได้รับอากาศบริสุทธิ์ทันที ถ้าหายใจลำบากให้ผายปอดแล้วรีบนำส่งสัตวแพทย์ Chest Trauma (อุบัติเหตุที่อก) ช่องอกมีอวัยวะที่สำคัญ กระดูกซี่โครงทำหน้าที่ในการป้องกันอันตรายให้กับหัวใจและปอด ให้ตรวจดูการหายใจของสัตว์ ถ้าสัตว์ยังหายใจได้ให้ปลอบสัตว์ให้สงบลงแล้วรีบนำส่งสัตวแพทย์ ถ้ามีบาดแผลโดยเฉพาะในกรณีที่มีอากาศรั่วออกจากปอดให้ปิดบาดแผลด้วยผ้าสะอาดหรือใช้แผ่นพลาสติกห่ออาหารพันไว้ Collapse (หมดสติ) ถ้าสัตว์เลี้ยงของท่านหมดสติอย่าเพิ่งตกใจจนทำอะไรไม่ถูก ให้สังเกตอาการแล้วรีบนำสัตว์เลี้ยงส่งไปให้สัตวแพทย์ที่ใกล้ที่สุดทันที ไม่ควรทำการผายปอดด้วยตัวเองเพราะอาจทำให้อวัยวะภายในได้รับอันตราย ต้องสำรวจว่าสัตว์เลี้ยงหมดสติมานานเท่าใด หัวใจยังเต้นอยู่หรือไม่ ถ้ายังไม่หมดสติดีให้ดูว่าสัตว์ดุร้ายขึ้นหรือไม่และควรระมัดระวังการกัดระหว่างการเคลื่อนย้าย ข้อควรระวังในสัตว์ที่หมดสติ สัตว์หมดสติหรือกำลังจะหมดสติอาจจะกำลังสับสน, หลายตัวดุร้ายขึ้นระหว่างกำลังหมดสติหรือระหว่างกำลังฟื้นตัว ซึ่งมักทำร้ายโดยเฉพาะกับคนที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งสัตวแพทย์ต้องตรวจเพื่อหาสาเหตุและป้องกันการเกิดซ้ำอีก บางทีการหมดสติมีสาเหตุชัดเจน เช่น ถูกปลอกคอรัดแน่นเกินไปหรือมีของเล่น เช่น ลูกบอลไปอุดทางเดินหายใจ สัตว์หมดสติระหว่างการออกกำลังหนัก ๆ หรือเล่นตามปกติแล้วจึงหมดสติ มีอาการหมดสติครั้งหลังสุดเมื่อไร กินระยะเวลานานเท่าใด หมดสติโดยสมบูรณ์หรือไม่ พฤติกรรมภายหลังการหมดสติเป็นอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยในการวินิจฉัยของสัตวแพทย์ได้มาก Coma (โคม่า) สัตว์จะหมดสติโดยสมบูรณ์ ให้สัตว์นอนตะแคงและระวังอย่าให้เป็นอันตรายจากสิ่งรอบข้าง ถ้าสงสัยว่าโคม่าเนื่องจากอุบัติเหตุ การเคลื่อนย้ายสัตว์ต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยให้สัตว์นอนบนแผ่นกระดานแล้วห่อตัวด้วยผ้าห่มผืนโตๆ ให้แน่นพอสมควรก่อนการเคลื่อนย้ายสัตว์ ระวังอย่ารัดบริเวณหน้าอกให้แน่นมากเกินไป และดูให้ ศีรษะ, กระดูกสันหลัง, และคอ สัตว์ไม่เคลื่อนไหวมากเพราะอาจมีการบาดเจ็บมากขึ้น ถ้าสงสัยว่าเกิดจากสารพิษ ให้นำภาชนะบรรจุสารพิษไปด้วยถ้ามี Constipation (ท้องผูก) ถ้าสัตว์เลี้ยงของท่านถ่ายแข็งมาก แต่ยังเล่นและกินอาหารได้ปกติ ให้เพิ่มอาหารที่มีกากใยมาก ๆ ลงไปในอาหาร เช่น ผักต่าง ๆ หรือฟักทองต้ม ให้สัตว์ออกกำลังกายมากขึ้นและจัดเตรียมน้ำสะอาดไว้ให้สัตว์ดื่มอย่างเพียงพอ ถ้าเป็นแมวอาจต้องให้ยาระบายสำหรับสัตว์ หรือเติมน้ำมันพืชลงในอาหารเล็กน้อย ถ้าสัตว์เลี้ยงท้องผูกมากจนไม่กินอาหาร, อ่อนเพลีย, ขาดน้ำ, ปวดเบ่งอุจจาระบ่อย ๆ ให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์ เนื่องจากสัตว์ต้องได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ สวนอุจจาระเพื่อเอาอุจจาระที่แข็งออก ซึ่งอาจต้องทำการวางยาสลบสัตว์ถ้าจำเป็น ไม่ควรหายามาสวนอุจจาระเองเนื่องจากยาบางตัวเป็นพิษกับสัตว์เลี้ยงของท่าน Coughing (ไอ) ถ้าสัตว์มีอาการไอ ไม่ควรให้ออกกำลังกายหรือทำให้เกิดความเครียด ให้พักในห้องที่อากาศถ่ายเทได้ดี ห้ามเป่าพัดลมโดยเด็ดขาดเพราะจะทำให้อาการไอมากขึ้น ให้พาสัตว์ไปหาสัตว์แพทย์เพื่อทำการรักษา ไม่ควรให้ยาเอง Covered in Paint, Glue or Oil (เปื้อนสี, กาว, หรือ น้ำมัน) ถ้าเปื้อนสี หรือ น้ำมัน มักล้างออกได้ด้วยแชมพูหรือน้ำยาล้างจานอ่อนๆ ถ้าล้างไม่ออกหลังจากพยายามแล้วให้ส่งไปให้ช่างตัดขนจัดการไถขนทิ้งให้หมด ลูกสัตว์มักไปเดินเล่นบนกาว หรือ กาวที่เรียกว่า Super glue ซึ่งส่วนประกอบของมันมีไซยาไนด์อยู่ด้วย แต่โชคดีที่ไซยาไนด์ในกาวเสื่อมสภาพเมื่อถูกน้ำลาย แต่ถ้ากาวแห้งแล้วน้ำลายก็ไม่สามารถละลายกาวได้ อักษร D – E Diarrhea (ท้องเดิน) สุนัขหลาย ๆ ตัวไม่สนใจว่ากินอะไรเข้าไป บางตัวจึงท้องเสียบ่อย ๆ เมื่อสัตว์ท้องเดินให้เตรียมน้ำเกลือแร่ให้สัตว์ดื่มเพื่อป้องกันการขาดน้ำและการสูญเสียเกลือแร่จากการท้องเดิน กำจัดสิ่งที่จะทำให้สัตว์ท้องเดิน เช่น ขยะ, เศษอาหารที่เหลือ ฯลฯ จำกัดอาหารหรืองดอาหารจนกว่าสัตว์จะหายท้องเสีย ควรให้อาหารอ่อน ๆ จนกว่าจะหายท้องเสีย และให้อาหารทีละน้อยแต่บ่อยขึ้นเพื่อไม่ให้ทางเดินอาหารทำงานหนัก สังเกตอาการว่าสัตว์มีอาการถ่ายเป็นเลือดหรือไม่ มีอาการเบื่ออาหารและอ่อนเพลียหรือไม่ หรือมีอาการแย่ลงและมีอาเจียนมากให้รีบนำส่งสัตวแพทย์ Difficulty Breathing (หายใจลำบาก) ถ้าเกิดอาการหายใจลำบากให้รีบนำส่งสัตวแพทย์เพราะเป็นอาการที่ต้องรักษาแบบฉุกเฉิน ให้สัตว์อยู่ในที่เย็นและเงียบเพื่อไม่ให้เครียด มีอาการไอ, เหนื่อย, เบื่ออาหาร ฯลฯ หรือไม่ และนำยาที่สัตว์กินก่อนมีอาการไปให้สัตวแพทย์ดูด้วย Dog fight (สุนัขต่อสู้กัน) สัตว์ที่ชอบออกไปเที่ยวนอกบ้าน โอกาสที่จะมีการต่อสู้กันมีสูงเป็นผลให้ได้รับบาดเจ็บ ให้ตรวจดูแผลและประเมินอันตรายจากบาดแผล ถ้ามีเลือดออกมากให้กดบาดแผลเพื่อห้ามเลือด อย่าขันชะเนาะหรือใช้หนังยางรัดเพื่อห้ามเลือด ล้างแผลด้วยไฮโดรเจนเปอร์อ๊อกไซด์ แล้วใส่แผลด้วยยาใส่บาดแผลสด เช่น โพวิโดนไอโอดีน, คลอเฮกซิดีน เพื่อลดการติดเชื้อ และควรพาไปให้สัตวแพทย์ตรวจบาดแผล เพราะบางครั้งบาดแผลดูภายนอกไม่น่าอันตรายแต่ภายในมีการติดเชื้อและเนื้อเยื่อเสียหายรุนแรง Dog Falling Out of Cars and Trucks (ตกจากรถ) การนำสัตว์เลี้ยงใส่ท้ายรถกระบะไปโดยไม่มีการใส่สายจูงและไม่มีคนนั่งอยู่ด้วยไม่ใช่ความคิดที่ดีเลยครับ เพราะถึงแม้สัตว์เลี้ยงของคุณจะไม่เคยโดดลงจากรถเลยตลอดระยะ เว ลา หลายปีที่คุณทำเช่นนี้มา แต่ไม่ได้หมายความว่าสัตว์ของคุณจะไม่โดดลงจากรถ เกิดวันหนึ่งสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขของคุณไปเจอแมวคู่อริเข้า หรือ เจอกับสุนัขอื่นที่ไม่ถูกชะตากัน สุนัขจะไม่ลังเลที่จะโดดลงจากรถเพื่อตามล่า ไม่ว่าจะจากท้ายรถกระบะหรือหน้าต่างที่เปิดทิ้งไว้กว้างพอที่จะลอดออกไปได้ หรือบางครั้งคุณเบรกรถแรงไปหรือเลี้ยวแรงไปจนสัตว์ เลี้ยงของคุณตกจากรถ แน่นอนว่าย่อมต้องมีการบาดเจ็บตามมา ถ้าเจอเหตุการณ์เช่นนี้ให้คุณปลอบให้สัตว์เลี้ยงของคุณสงบลง สังเกตอาการหายใจและอย่าให้สัตว์เคลื่อนไหว ถ้ามีบาดแผลให้ใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผลไว้ แต่ต้องระวังสัตว์สัตว์กัดด้วยเพราะความตกใจกลัวหรือเจ็บ ควรใส่ตะกร้อหรือหาเชือกมัดปากไว้ก่อน แล้วพาไปให้สัตวแพทย์ตรวจ Drooling (น้ำลายยืด) มักเป็นแบบปัจจุบันคือเป็นทันที ให้สังเกตว่ามีสิ่งแปลกปลอมในปากหรือไม่, กินสารเคมี, มีก้อนเนื้อ หรือ มีบาดเจ็บที่ปาก เจ้าของควรระวังไม่ควรเอามือเข้าปากสัตว์เพราะอาจจะถูกกัด ให้ล้างปากด้วยน้ำสะอาดเพื่อล้างเอาสารเคมีหรือพืชพิษออกจากปาก เพราะสิ่งเหล่านี้อาจขมหรือระคายเคืองทำให้มีน้ำลายยืดโดยเฉพาะกับแมว และสังเกตพฤติกรรมสัตว์ ถ้าไม่มีอาการอาเจียนให้สัตว์กินน้ำ แล้วสังเกตดูอาการถ้ากลับเป็นปกติในเวลา 1 – 2 ชั่วโมงก็อาจไม่ต้องส่งสัตวแพทย์ แต่ถ้ากินสารแปลกปลอมเข้าไปให้ดูข้างภาชนะที่ใส่สารนั้นว่ามีวิธีแก้หรือไม่ Drowning or Near Drowning (จมน้ำหรือตกน้ำ) สุนัขไม่ใช่ว่าจะว่ายน้ำได้ทุกตัว สระน้ำ, บ่อ, หรือ แม่น้ำลำคลอง เป็นที่อันตราย ถ้าพบสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงของท่านตกน้ำให้รีบนำขึ้นจากน้ำ ถ้าสัตว์หมดสติต้องทำการผายปอดตามขั้นตอน พยายามให้ทางเดินหายใจโล่งปราศจากสิ่งแปลกปลอมและน้ำ โดยยกสัตว์ให้ห้อยหัวลงเพื่อให้น้ำไหลออกทางปากและจมูก เมื่อแน่ใจว่าไม่มีน้ำหรือของเหลวแล้วให้วางสัตว์นอนตะแคง ถ้าไม่หายใจให้ช่วยด้วยการผายปอดโดยกดบริเวณหน้าอกเป็นจังหวะ ถ้าไม่แน่ใจว่าหัวใจหยุดเต้นหรือไม่ให้รีบนำส่งสัตวแพทย์ Dystocia (คลอดยาก) การทำคลอดสัตว์ทั้งสัตว์และเจ้าของจะเกิดความเครียด ถ้าสัตว์เกิดอาการคลอดยากต้องรีบนำส่งสัตวแพทย์ทันที ถ้าลูกสัตว์คาอยู่ที่ช่องคลอดให้ช่วยดึงอย่างนุ่มนวลเพื่อให้ลูกออกจากช่องคลอด และขอคำปรึกษาจากสัตวแพทย์ของท่าน เจ้าของต้องสังเกตสิ่งต่อไปนี้เพื่ออธิบายกับสัตวแพทย์ สุนัขตั้งท้องนานเกิน 70 วัน หรือ สัตว์ที่เบ่งแล้วหรือทำรังเตรียมคลอดหรืออุณหภูมิต่ำกว่าปกติไปแล้วเกิน 24 ชั่วโมง โดยไม่มีลูกสัตว์ออกมา บางตัวอาจมีอาการอาเจียน ให้รีบส่งสัตวแพทย์ เจ้าของสัตว์ส่วนมากจะไม่ค่อยสนใจวันที่สัตว์ผสมพันธุ์กัน ทำให้ไม่ทราบกำหนดตั้งท้องที่แน่นอน วิธีที่ดีคือเมื่อทราบว่าสัตว์ผสมให้จดไว้ที่ปฏิทิน มีอาการเบ่งอย่างแรงและสม่ำเสมอแล้วมาเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงแต่ไม่คลอด หรือช่วงระยะเวลาห่างของการคลอดลูกแต่ละตัวเกิน 4 ชั่วโมง ให้รีบส่งสัตวแพทย์ เมือกที่ออกมาทางช่องคลอดมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ หรือ แม่สัตว์มีอาการอาเจียนและอ่อนเพลีย มีน้ำข้นสีเขียวเข้มออกมาทางช่องคลอด แสดงว่ามีการลอกหลุดของรก ต้องรีบนำส่งสัตวแพทย์เพื่อทำการผ่าตัดคลอด Ear Discharge (ขี้หูแฉะหรือมีน้ำเหลืองออกจากหู) ปกติหูจะมีขี้หูมัน ๆ ออกมาบ้าง แต่ถ้าออกมามากและมีสีผิดไปจากปกติ หรือ มีกลิ่นเหม็น ต้องส่งสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษา ซึ่งเจ้าของอาจต้องทำการล้างหูอย่างสม่ำเสมอเพื่อการป้องกันและรักษาอาการหูอักเสบ และเจ้าของสัตว์ไม่ควรใช้ค๊อตต้อนบัดหรือสำลีพันปลายไม้เช็ดหูเอง ถ้าไม่มีน้ำยาล้างหูให้ใช้น้ำส้มสายชู 1 ส่วนผสมกับน้ำ 9 ส่วนเพื่อล้างหูและเช็ดออกด้วยสำลีก้อน สารละลายตามที่กล่าวไม่ควรใช้เป็นประจำเพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ช่องหู Eye Problem or Injury (อุบัติเหติที่ตา) ปกติอุบัติเหตุที่ตาพบได้น้อย ส่วนมากจะเกิดเนื่องจากสัตว์เกาหรือเอาตาไปถูเอง เนื่องจากมีการระคายเคืองหรือเจ็บตา การเกาหรือถูตาของสัตว์ทำให้อาการที่ตาเป็นมากขึ้น ต้องรีบส่งให้สัตวแพทย์ตรวจโดยด่วนอย่าพยายามรักษาเอง ขั้นต้นต้องพยายามไม่ให้สัตว์ถูหรือเกาตาก่อนที่จะพาไปพบสัตวแพทย์ ให้ล้างตาด้วยน้ำกลั่นสะอาดหรือน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว ในกรณีที่สงสัยว่าโดนสารเคมีหรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา ถ้าตาหลุดออกนอกเบ้าให้ล้างด้วยน้ำกลั่นหรือน้ำต้มสุกเย็นแล้ว จากนั้นจึงใช้ผ้าสะอาดที่นุ่มมาก ๆ หรือผ้าก๊อซที่ชุ่มด้วยยาหยอดหรือยาป้ายตาที่ไม่มีสเตียรอยด์ปิดลูกตาไว้ แล้วรีบนำส่งสัตวแพทย์เพื่อทำการผ่าตัด Electrical Shock (ไฟฟ้าดูด) ลูกสัตว์ที่อยากรู้อยากเห็นจะเที่ยวกัดแทะไปทั่ว บ้านเราที่ใช้ไฟ 220 โวลท์ค่อนข้างอันตรายมาก ถ้าลูกสุนัขไปกัดสายไฟที่มีกระแสไฟอยู่ โดยเฉพาะไปยุ่งกับบริเวณเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีไฟแรงสูง วิธีป้องกันที่ดีคือถอดปลั๊กไฟทุกครั้งที่เลิกใช้งาน ถ้าพบว่าสัตว์เลี้ยงของท่านถูกไฟฟ้าดูด ให้รีบสับสวิทช์ไฟเพื่อตัดไฟเสียก่อนที่จะดึงตัวสุนัขออกจากสายไฟ แล้วรีบนำส่งสัตวแพทย์ ถ้ามีบาดแผลไฟลวกสัตวแพทย์ของท่านจะจ่ายยาทาเพื่อกันการติดเชื้อมาให้ แต่ถ้าเกิดมีการสะสมของของเหลวในปอดสัตว์ต้องได้รับยาขับน้ำ ซึ่งบางรายอาจไม่จำเป็นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการถูกไฟฟ้าดูด บางรายที่เกิดอาการช๊อกอาจต้องให้สารน้ำทางเส้นเลือดและให้ออกซิเจน อักษร F Facial Swelling (หน้าบวม) ส่วนมากอาการหน้าบวมมักเกิดเนื่องจากแพ้บางอย่าง เช่น แพ้วัคซีน, แพ้ยา, หรือแพ้สิ่งมีพิษ เช่น แมลงหรือพืชพิษ ในแมวอาการหน้าบวมที่พบบ่อยเกิดเนื่องจากเจ้าของให้ยาแก้ไข้ประเภทพาราเซตามอล ซึ่งเป็นพิษกับตับแมวและเป็นสาเหตุการตายในแมวมาก ถ้าอาการแพ้ไม่มากอาการจะหายไปเอง ในรายที่แพ้จนเกิดอาการช๊อกต้องทำการช่วยชีวิต ถ้าถูกแมลงมีพิษต่อยต้องรีบเอาเหล็กไนออก ถ้าแพ้ไม่มากก็ให้กินยาแก้แพ้ได้ แต่ในแมวที่กินยาพาราเซตามอลเข้าไปให้รีบส่งสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษา Fan Belt Injuries (อุบัติเหตุจากสายพานพัดลมรถ) ในช่วงที่อากาศเย็นมาก ๆ หรือทางตอนบนของประเทศที่มีอากาศเย็นมาก ๆ แมวมักชอบเข้าไปนอนในห้องเครื่องรถยนต์เพื่อความอบอุ่น ช่วงหน้าหนาวท่านควรเปิดฝากระโปรงรถเพื่อดูว่าแมวของท่านไม่ได้เข้าไปนอนหลับอย่างสบายในนั้นก่อนที่จะทำการสตาร์ทเครื่องยนต์ แต่ถ้าเกิดลืมแล้วสงสัยว่ามีแมวในห้องเครื่องให้รีบดับเครื่องทันที รีบนำแมวออกจากห้องเครื่องแล้วพยายามปลอบแมวให้หายตกใจ ระวังแมวกัดด้วยนะครับ ส่วนมากแล้วแมวมักจะถูกสายพานปั่นจนหนังหลุด ให้ห่อตัวแมวด้วยผ้าสะอาดแล้วรีบนำส่งสัตวแพทย์ทันที Fever (มีไข้) อุณหภูมิปกติของสัตว์จะอยู่ราว 100.5 – 102.5 องศาฟาเรนไฮต์ การสัมผัสตามท้องหรือหัวของสัตว์แล้วสรุปว่าสัตว์มีไข้ไม่ถูกต้อง ต้องวัดทางทวารหนักเท่านั้น ในรายที่ไข้ต่ำกว่า 104.5 องศาฟาเรนไฮต์ ให้สังเกตดูอาการว่าสัตว์ไข้ลดเองหรือไม่ ดูว่าสัตว์เลี้ยงของท่านกินอาหารและดื่มน้ำเป็นปกติหรือเปล่า วัดอุณหภูมิอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 104.5 องศาฟาเรนไฮต์ให้รีบพาสัตว์ไปพบสัตวแพทย์ รวมทั้งสังเกตว่าสัตว์เลี้ยงมีอาการอื่น เช่น ฝี, มีก้อนผิดปกติตามตัวหรือไม่, ปัสสาวะมีเลือดปนหรือปวดเบ่งปัสสาวะบ่อย, จามหรือหายใจลำบาก ฯลฯ รวมทั้งสังเกตว่ากินอาหารและดื่มน้ำตามปกติหรือไม่เพื่อจะได้บอกอาการกับสัตวแพทย์ได้ถูกต้อง Fish Hook Injuries (เบ็ดเกี่ยวปาก) ถ้าสัตว์เลี้ยงกินเบ็ดเข้าไปให้รีบนำส่งสัตวแพทย์เพื่อเอาเบ็ดออก ถ้ากลืนลงท้องไปแล้วอย่าดึงสายเบ็ดที่ติดอยู่กับตัวเบ็ดออกเองเพราะอันตรายมาก ต้องผ่าตัดเอาออกเท่านั้น ถ้าเบ็ดเกี่ยวอยู่กับผิวหนังภายนอกท่านอาจจะเอาออกเองได้ โดยดันปลายเบ็ดให้ผ่านผิวหนังออกมาอย่าใช้วิธีดึงเบ็ดออก จากนั้นตัดส่วนโคนเบ็ดที่เป็นที่ร้อยสายเบ็ดออกแล้วจึงดึงเบ็ดออก แล้วใส่ยาบาดแผลสด ถ้าเบ็ดเป็นสนิมให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์พร้อมกับเบ็ดที่ดึงออกแล้ว Fleas (หมัดกัด) หมัดกัดไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน ส่วนมากหมัดจะทำให้เกิดอาการแพ้, เป็นตัวนำพยาธิ์ตัวตืด และอาจทำให้โลหิตจาง ถ้ามีหมัดมาก ๆ ให้ปรึกษาสัตวแพทย์ การกำจัดหมัดค่อนข้างยากและค่าใช้จ่ายแพงเนื่องจากยาแพง Flea Product Toxicity (อาการพิษจากยากำจัดหมัด) ยาทารักษาหมัดเป็นยาที่ค่อนข้างได้ผลดีซึ่งมักเป็นยาสำหรับสุนัข เจ้าของสัตว์มักเข้าใจผิดว่าใช้ในแมวได้ด้วยเป็นผลให้เกิดอาการพิษจากยาที่รุนแรง เช่น ยาในกลุ่ม Perm ethrin หรือ Pyrethrin ในขนาดที่สูงเป็นพิษกับแมว อาการเป็นพิษจะเร็วค่อนข้างมากทันที่ที่ได้รับยาแมวจะแสดงอาการ น้ำลายยืด, กล้ามเนื้อสั่นหรือกระตุก, ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการชัก ถ้าแมวมีอาการเช่นนี้ภายหลังการใช้ยากลุ่ม Permethrin หรือ Pyrethrin ให้ล้างตัวแมวด้วยสบู่หรือแชมพูอ่อน ๆ เพื่อเอายาออก และลดการดูดซึมของยา ห้ามใช้แชมพูฆ่าเห็บหมัดในการล้างตัวเด็ดขาด รวมทั้งห้ามใช้น้ำอุ่นอาบเนื่องจากเส้นเลือดจะขยายและทำให้ยาถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดมากขึ้น จากนั้นรีบนำส่งสัตวแพทย์ ซึ่งแมวจะต้องได้รับสารน้ำและยาคลายกล้ามเนื้อ กรณีเช่นนี้แมวต้องอยู่โรงพยาบาล Fly Strike (แมลงกัดต่อย) สัตว์เลี้ยงที่อยู่นอกบ้านอาจพบกับแมลงที่มีพิษ แมลงเป็นสิ่งที่ก่อความรำคาญให้สัตว์มากที่สุด โดยเฉพาะที่ขอบของใบหู การโดนแมลงกัดมาก ๆ จะทำให้เกิดแผลและมีเลือดออกที่ขอบของใบหู ให้ล้างบริเวณที่แมลงกัดด้วยไฮโดรเจนเปอร์อ๊อกไซด์แล้วทาด้วยยาใส่แผลสด เจ้าของอาจต้องทายากันแมลงให้สัตว์เลี้ยง แต่ถ้าใบหูมีอาการอักเสบมากให้พาไปหาสัตวแพทย์ Foreign Bodies (สิ่งแปลกปลอม) สิ่งแปลกปลอมคือสิ่งที่ไม่ใช่อาหารที่สัตว์กินเข้าไป ซึ่งอาจไปอุดตันทางเดินอาหารทำให้สัตว์ป่วย สัตว์ที่กินสิ่งแปลกปลอมเข้าไปมักมีอาการที่ทางเดินอาหาร ถ้าเห็นสัตว์กินสิ่งแปลกปลอมเข้าไปให้พยายามทำให้อาเจียนแล้วพาส่งสัตวแพทย์ แต่ต้องดูด้วยว่าการทำให้อาเจียนแล้วเป็นอันตรายหรือไม่ ถ้าสัตว์ไม่กินอาหาร, น้ำลายยืด, มีอาการอาเจียน และมีอาการผิดปกติของทางเดินอาหารให้รีบนำส่งสัตวแพทย์ บางครั้งอาจพบว่าสัตว์กินสิ่งแปลก ๆ เข้าไป เช่น หิน, ขดลวด, ตะปูตอกแถบรัดสายไฟ แล้วเห็นโผล่ออกมาทางก้น อย่าพยายามดึงออกให้ปรึกษาสัตวแพทย์ก่อน Fractures (กระดูกหัก) กระดูกหักมักเกิดเนื่องจากอุบัติเหตุ เช่น รถชน, ตกจากที่สูง, ขาขัดกับลวดกรง หรือถูกเตะ ถ้าพบสัตว์เลี้ยงกระดูกหักให้พยายามให้สัตว์เลี้ยงสงบ, จำกัดการเคลื่อนไหว ถ้ามีบาดแผลให้ใช้ผ้าสะอาดพันปิดไว้ สัตว์ที่กระดูกหักมักเจ็บปวดมากควรระวังการกัดจากสัตว์เลี้ยงด้วย โดยผูกปากหรือใส่ขลุมปากก่อน และเคลื่อนย้ายสัตว์ด้วยความระมัดระวัง โดยให้สัตว์อยู่ในท่าเหยียดขา อักษร F – K Gunshot Wound (แผลจากการถูกยิง) ถ้าท่านพบว่าสัตว์เลี้ยงถูกยิงให้ปลอบสัตว์ให้สงบลง ตรวจดูว่ามีอาการหายใจลำบากหรือไม่, มีเลือดออกมาจากบาดแผลมาก ๆ หรือไม่ หรือมีบาดแผลอื่นๆ หรือไม่ ให้พันปิดแผลด้วยผ้าสะอาด ถ้าเลือดออกมาให้พยายามห้ามเลือด แล้วรีบนำส่งสัตวแพทย์ Head Trauma (อุบัติเหตุที่หัว) เป็นอุบัติเหตุที่รุนแรงและถึงตาย เป็นกรณีที่ฉุกเฉินมาก ให้รีบพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ทันทีที่พบอุบัติเหตุบริเวณหัว ถึงแม้สัตว์เลี้ยงจะไม่แสดงอาการผิดปกติแต่อาจเป็นอันตรายร้ายแรง ควรยกหัวสัตว์ให้สูงกว่าส่วนตัวโดยอย่าให้มีอะไรไปกดส่วน หัว, คอ และ หลัง เคลื่อนย้ายสัตว์ด้วยความระมัดระวังและต้องระวังสัตว์กัดด้วย Heat Stroke (ลมแดด) โรคลมแดดเป็นอาการที่ทำให้ตาย และเป็นกรณีฉุกเฉินมาก สัตว์เลี้ยงของท่านจะมีไข้สูงมาก ทำให้หอบและหมดสติ ทราบได้โดยการวัดไข้ทางทวารหนัก อุณหภูมิปกติอยู่ระหว่าง 100.5-102.5 องศาฟาเรนไฮต์ แต่ถ้าสัตว์มีอุณหภูมิสูงถึง 105 องศาฟาเรนไฮต์ให้รีบนำส่งสัตวแพทย์ ให้สัตว์อยู่ในที่เย็นหรือรีบอาบน้ำสัตว์ ให้ดื่มน้ำเย็นเพื่อระบายความร้อน Highrise Syndrome (ตกจากที่สูง) ชีวิตในเมืองที่ต้องอาศัยอยู่ตามคอนโดมิเนียมหรือตึกสูง ๆ สัตว์เลี้ยงอาจไปที่ระเบียงหรือหน้าต่าง ทำให้พบได้บ่อยว่าสัตว์เลี้ยงของท่านตกจากตึกและเกิดอาการบาดเจ็บ ถ้าพบว่าสัตว์เลี้ยงของท่านตกจากตึกให้ใช้ผ้าห่มหนา ๆ ห่อตัวสัตว์ไว้แล้วรีบพาไปพบสัตวแพทย์ แมวจะมีโอกาสรอดชีวิตได้มากกว่าสุนัข เคยพบว่าแมวตกจากตึกสูงถึง 32 ชั้นแล้วรอดชีวิต แต่สุนัขแค่หกชั้นก็ไม่พบว่ามีรอดสักราย Hit by Car (รถชน) ในกรณีที่สงสัยว่าสัตว์เลี้ยงถูกรถชนให้รีบพาไปให้สัตวแพทย์ตรวจเร็วที่สุด และควรตรวจดูการหายใจของสัตว์ อาจจะต้องช่วยหายใจในกรณีที่จำเป็น พยายามปลอบให้สัตว์เลี้ยงหายตื่นกลัว ถ้ามีแผลที่หน้าอกให้ใช้ผ้าสะอาดพันห่อตัวไว้ และถ้าเลือดออกให้กดบาดแผลไว้ให้เลือดหยุด ในกรณีที่มีกระดูกหักร่วมด้วยต้องเคลื่อนย้ายด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากสัตว์จะเจ็บมากกว่าปกติและอาจทำร้ายเจ้าของหรือผู้ช่วยในการเคลื่อนย้าย ในกรณีเช่นนี้ให้มัดปากหรือใส่ขลุมปากก่อน Hot Spot (ผิวหนังอักเสบจากแบคทีเรีย) ผิวหนังอักเสบแบบนี้พบได้บ่อยในสุนัขโดยเฉพาะในช่วงที่อากาศร้อนชื้น สัตว์จะแสดงอาการคันและปวดแสบปวดร้อนอย่างมาก แสดงให้เห็นโดยจะกัดทึ้งหรือเลียบริเวณผิวหนังที่อักเสบบ่อย ๆ ซึ่งยิ่งทำให้แผลลุกลามไปอย่างรวดเร็ว ถ้าแผลยังมีขนาดเล็กให้ขลิบขนบริเวณนั้นจนเห็นขอบแผลชัดเจน แล้วล้างแผลด้วยไฮโดรเจนเปอร์อ๊อกไซด์แล้วทาด้วยยาใส่แผลสด ให้ทำแผลทุกวันจนกว่าแผลจะหายสนิท ถ้าแผลลุกลามไปมากให้พาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ ซึ่งต้องมีการให้ยาปฏิชีวนะและยาระงับอาการคัน อากาศที่ร้อนชื้นและหมัดมักเป็นสาเหตุหลักของการเกิดผิวหนังอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ถ้าสัตว์แทะแผลมากให้ใส่ปลอกคอกันกัดแผลไว้ Impalement (แผลถูกแทง) การถูกของแหลมแทงมีได้จากหลายสาเหตุ เช่น ถูกลูกดอก, ลูกธนู, รั้วเหล็กแหลมหรือรั้วไม้ ฯลฯ ซึ่งบาดแผลถึงจะไม่ใหญ่แต่บางครั้งอันตรายมากทีเดียว และถ้าเอาออกอย่างไม่ถูกวิธีอาจทำให้เลือดตกในและตายได้ ถ้าสัตว์เลี้ยงถูกของแหลมทิ่มแทงให้พันตัวสัตว์ด้วยผ้าสะอาดหนาๆ แล้วส่งต่อให้สัตวแพทย์ โดยพยายามอย่าให้วัตถุที่ทิ่มแทงขยับเขยื้อนมาก ๆ และอย่าให้สัตว์แทะเลียบริเวณที่เป็นบาดแผล Intestinal Parasites (พยาธิ์ในลำไส้) สัตว์เลี้ยงของท่านมีพยาธิ์ในลำไส้หลายชนิด จึงควรถ่ายพยาธิ์เป็นประจำ หรือถ้าสงสัยว่าสัตว์เลี้ยงมีพยาธิ์ให้นำสัตว์เลี้ยงไปตรวจอุจจาระหรือนำอุจจาระที่เพิ่งถ่ายออกมาใหม่ๆไปให้สัตวแพทย์ตรวจ ไข่พยาธิ์บางชนิดสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมภายนอกได้เป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือน เพื่อรอเวลากลับเข้าตัวสัตว์ใหม่ ที่ที่ไข่และตัวอ่อนพยาธิ์ชอบอยู่ เช่น ที่สาธารณะอย่างสวนสาธารณะ, สนามหญ้าในบ้าน, พื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้าน ฯลฯ เป็นต้น ถ้าสัตว์เลี้ยงไม่ได้รับการถ่ายพยาธิ์เลยจำนวนพยาธิ์อาจจะเพิ่มมากจนสัตว์ป่วยหนักและตาย อาการที่พบอาจเห็น อาเจียน, ท้องเสีย, อ่อนเพลีย, ผอมลง, และ โลหิตจาง อักษร L – O Laceration (ผิวหนังฉีกขาด) บากแผลแบบนี้มักเกิดเนื่องจากอุบัติเหตุ ถ้าเลือดออกมากให้กดแผลห้ามเลือดด้วยผ้าสะอาด แต่ต้องระวังสัตว์กัดเพราะตกใจและเจ็บ การกดแผลจะช่วยห้ามเลือดถ้าเส้นเลือดไม่ใหญ่มาก เส้นเลือดใหญ่ต้องอาศัยการเย็บห้ามเลือดโดยสัตวแพทย์ อาจล้างแผลที่สกปรกมากด้วยน้ำก่อนนำส่งสัตวแพทย์ และควรปิดบาดแผลด้วยผ้าสะอาดและอย่าให้สัตว์เลียแผล บาดแผลแบบนี้มักต้องเย็บแผลและให้ยาปฏิชีวนะ Lameness/Limping (เจ็บขา) สาเหตุมีมากมายอาจเป็นเพียงแค่เจ็บขาเล็กน้อยไปจนถึงกระดูกหัก ทางที่ดีพาไปพบสัตวแพทย์โดยเฉพาะในรายที่เป็น ๆ หาย ๆ สัตว์ที่เจ็บขาไม่ควรปล่อยอิสระ ควรใส่สายจูงทุกครั้งที่พาสุนัขออกไปอุจจาระหรือปัสสาวะ อย่าให้ยาแก้ปวดเองโดยไม่ปรึกษาสัตวแพทย์ เพราะยาแก้ปวดของคนส่วนใหญ่เป็นพิษกับสัตว์เลี้ยง Loss of Balance and Staggering (เสียการทรงตัวหรือเดินโซเซ) การเดินโซเซและเสียการทรงตัวมีสาเหตุหลายอย่างตั้งแต่โรคของหูส่วนในจนถึงการโดนสารพิษ ถ้าพบพยายามให้สัตว์อยู่นิ่งๆ และห่างจากที่อาจก่อให้เกิดอันตราย เช่น บันได, สระว่ายน้ำ, บ่อน้ำ และ ของมีคม ควรพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์โดยเร็ว Low BodyTemperature (อุณหภูมิต่ำ) เป็นอาการที่แสดงถึงภาวะการป่วย ในลูกสัตว์ที่เพิ่งคลอดถ้าป่วยอุณหภูมิอาจจะต่ำกว่าปกติ ในกรณีเช่นนี้ควรแยกลูกสัตว์ตัวนั้นมาให้ความอบอุ่นและคอยวัดอุณหภูมิของร่างกายทางทวารหนัก และรีบพาไปพบสัตวแพทย์ โดยเฉพาะในรายที่อุณหภูมิต่ำกว่า 98 องศาฟาเรนไฮต์ Mammary Gland Swelling (เต้านมขยายใหญ่) มีหลายสาเหตุการรักษามักรักษาตามสาเหตุของโรค บางรายอาจหายเองโดยไม่ต้องรักษา ในแม่สัตว์ที่กำลังให้นมลูกต้องหยุดการให้นม ลดความเครียดและเจ็บปวดด้วยการประคบร้อนหรือประคบเย็นบริเวณเต้านมที่บวม หาสาเหตุการบวมว่ามาจากการติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งควรพาสัตว์ไปพบสัตวแพทย์เพื่อหาสาเหตุ Opened Wound (บาดแผลจากของมีคม) ควรพาสัตว์เลี้ยงไปให้สัตวแพทย์ทำการเย็บแผล โดยเฉพาะในรายที่บาดแผลใหญ่ การดูแลเบื้องต้นโดยการกดบาดแผลด้วยผ้าสะอาดเพื่อห้ามเลือด ล้างแผลด้วยน้ำอุ่นก่อนพาไปพบสัตว แพทย์ Oral Foreign Body (สิ่งแปลกปลอมในปาก) สัตว์เลี้ยงที่มีของแปลกปลอมในปากมักแสดงอาการให้เห็น โดยเอาปากไปถูกับพื้นหรือเอาเท้าเกาปากเพื่อพยายามเอาสิ่งแปลกปลอมออก บางรายอาจมีอาการหายใจลำบากร่วมด้วย ให้รีบพาสัตว์ไปหาสัตวแพทย์โดยด่วน ในรายที่สัตว์กลืนสิ่งของแล้วไปอุดตันหลอดลมหรือทางเดินหายใจต้องรีบช่วยอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้อาการหายใจไม่ออก โดยให้ใช้ท่อนแขนโอบรอบเอวสัตว์แล้วกำหมัดกดที่หลังซี่โครงซี่สุดท้ายเร็ว ๆ และแรง 5 ครั้ง สิ่งของที่อุดตันช่องปากอยู่อาจหลุดออกมา ให้รีบเอาออกจากปาก อักษร P – R Pad Injuries (บาดเจ็บที่ฝ่าเท้า) ถ้าเป็นเล็กน้อยให้ล้างแผลและใส่ยาบาดแผลสดตามปกติ และระวังอย่าให้สัตว์เลียแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ในรายที่เป็นมากคงต้องให้เป็นหน้าที่ของสัตวแพทย์ Poisons (ถูกสารพิษ) ถ้าสัตว์กินสารพิษเข้าไปให้ดูข้างขวด ซึ่งมักมีการบอกวิธีแก้เบื้องต้น ให้รีบปรึกษาสัตวแพทย์ ซึ่งส่วนมากสัตวแพทย์มักแนะนำให้ทำให้สัตว์อาเจียนก่อนพามาพบสัตวแพทย์และควรนำขวดสารพิษที่สัตว์กินมาให้ดูด้วยทุกครั้ง สารพิษบางอย่างระคายเคืองมากไม่ควรทำให้อาเจียนเพราะอาจหลุดเข้าทางเดินหายใจซึ่งจะทำให้อันตรายมากขึ้น ในการทำให้สัตว์อาเจียนให้ใช้ ไฮโดรเจนเปอร์อ๊อกไซด์ 3% โดยใช้ขนาด 1 ช้อนชาต่อน้ำหนักตัวสัตว์ 4.5 กก. โดย 1 ช้อนชาเท่ากับ 5 ซีซี. หรือ 5 มล. เมื่อป้อนแล้วให้ปล่อยให้สัตว์เดินและเขย่าบริเวณท้องสัตว์ เพื่อให้ไฮโดรเจนเปอร์อ๊อกไซด์ผสมกับอาหารในกระเพาะ สัตว์มักอาเจียนภายหลังการกินไปแล้ว 15 – 20 นาที ถ้าไม่อาเจียนให้ให้ซ้ำอีกครั้งในขนาดเดิม ถ้ายังไม่อาเจียนไม่ควรให้ซ้ำครั้งที่ 3 ควรรีบพาสัตว์ไปพบสัตวแพทย์ ถ้าสัตว์โดนสารพิษเพียงภายนอกร่างกายให้รีบล้างทำความสะอาดบริเวณที่เปื้อนด้วยน้ำและสบู่ เพื่อป้องกันสารพิษซึมเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังหรือจากการที่สัตว์เลียแล้วรีบนำสัตว์ไปพบสัตวแพทย์ Post Surgery Problems (ปัญหาหลังการผ่าตัด) ส่วนมากการผ่าตัดมักไม่มีปัญหาแทรกซ้อนตามมา และแผลของสัตว์มักหายเร็วกว่าคน แต่ในบางครั้งแผลผ่าตัดก็มีอาการแทรกซ้อนตามมาได้ ซึ่งบางทีก็ไม่ได้เกิดเนื่องจากการผ่าตัด เช่น เลียแผล (Licking) การกัดหรือเกาแผล เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุดภายหลังการผ่าตัด วิธีแก้ที่ดีคือการให้สัตว์ใส่ปลอกคอกันเลียแผล มักทำด้วยพลาสติกอ่อนและใช้ปลอกคอเป็นตัวช่วยยึด ปลอกคอกันเลียที่ใส่จะเปิดด้านหน้าสัตว์ ซึ่งทำให้สัตว์สามารถดื่มน้ำและกินอาหารได้ ถ้าแผลผ่าตัดอยู่ที่บริเวณอกหรือท้องอาจใช้เสื้อยืดสวมทับอีกทีหนึ่ง แผลบวม (Incisional Swelling) แผลผ่าตัดปกติจะมีอาการบวมเล็กน้อยเนื่องจากอาจมีเลือดหรือของเหลวไปคั่ง หรือเกิดเนื่องจากพังผืดที่เกี่ยวกับการหายของแผล ถ้ามีอาการบวมมากให้พาไปพบสัตวแพทย์ที่ทำการผ่าตัด เพื่อดูว่าเป็นการบวมเนื่องจากสาเหตุใด มีของเหลวไหลออกจากแผล (IncisionDischarge) ในช่วงสองสามวันภายหลังการผ่าตัดตามปกติอาจมีน้ำเลือดจาง ๆ หรือน้ำเหลืองไหลซึมออกจากบาดแผลได้ แต่หากไหลมากจนหยดเปื้อนพื้นตลอดเวลาให้ปรึกษาสัตวแพทย์ที่ทำการผ่าตัด ภายหลังผ่าตัดไปแล้ว 2 วันไม่ควรมีของเหลวไหลออกมาจากแผลอีก ถ้ามีเลือดไหลออกจากแผลให้กดแผลด้วยผ้าสะอาดถ้าเลือดไม่หยุดไหลให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์ ไหมหลุด (Missing Suture) ถ้าแผลที่เย็บไว้ไม่ปริออกจากกัน ไม่มีอาการบวมหรืออักเสบ และไม่มีน้ำไหลออกจากบาดแผล สัตวแพทย์มักไม่ทำการเย็บแผลให้ใหม่ แต่ถ้าแผลปริออกจากกันสัตวแพทย์จึงจะทำการเย็บแผลให้ใหม่ มีเนื้อเยื่อโผล่ออกจากแผล (Tissue Protruding from Incision) ถ้าพบให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์ที่ทำการผ่าตัดโดยเร็วที่สุด และควรปิดปากแผลด้วยผ้าสะอาด เพราะเป็นกรณีที่แผลแตกต้องทำการเย็บใหม่โดยด่วน Prolapse (ดากทะลักหรือมดลูกทะลัก) คือการที่ลำไส้ส่วนปลายหรือส่วนของผนังช่องคลอดหรือมดลูกโผล่ออกมาภายนอก ถ้าพบสัตว์เลี้ยงเป็นให้ใช้น้ำสุกหรือน้ำกลั่นล้าง แล้วใช้ผ้าชุบน้ำสุกหรือน้ำกลั่นปิดไว้แล้วพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการเย็บกลับคืนที่เดิม อย่าพยายามดันกลับคืนหรือปล่อยให้สัตว์เลียหรือทึ้งอวัยวะที่โผล่ออกมา Puncture (ถูกแทงหรือมีของตำ) ให้ดูว่ามีเลือดออกหรือไม่ ถ้ามีเลือดออกมากให้กดแผลเพื่อห้ามเลือดแล้วรีบพาไปหาสัตวแพทย์ Reverse Sneezing (จามย้อนกลับ) อาการจะคล้ายกับสำลักหรือสะอื้น เจ้าของสัตว์มักเข้าใจว่าสัตว์หายใจไม่ออก แต่อาการแบบนี้ไม่เป็นอันตรายใด ๆ กับสัตว์ อาการจะหายไปเองเมื่อสัตว์ได้รับการกระตุ้นให้กลืนโดยการนวดบริเวณคอหรือหยิกจมูกเบา ๆ อักษร S Seizure or convulsion (ชัก) สัตว์เลี้ยงของท่านมีอาการชักได้ทุกอายุ เนื่องจากสาเหตุของการชักมีมากมาย เช่น เป็นโรคลมชัก, มีอาการบาดเจ็บทางสมอง, เนื้องอก, โรคทางสมอง หรือโดนสารพิษ การดูแลเหมือนกันหมดทุกกรณีไม่ว่าจะเกิดเนื่องจากสาเหตุใดก็ตาม ระหว่างการชัก เจ้าของสัตว์ไม่ควรตกใจเพราะสัตว์ไม่รู้สึกตัวระหว่างการชักและไม่ได้เจ็บปวด สัตว์อาจมีอาการเหมือนหยุดหายใจ ให้กันสัตว์เลี้ยงให้ห่างจากสิ่งที่อาจเกิดอันตราย เคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์ให้ห่างตัวสัตว์ ไม่ควรให้สัตว์อยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น สระหรือบ่อ, บันได, หรือของแหลมคม ถ้าเป็นไปได้ให้วางหมอนรองหัวไว้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่ศีรษะ ไม่ควรเอามือใส่ปากสัตว์เพราะจะถูกกัด ไม่ควรเอาช้อนค้ำปากสัตว์ และกันเด็กให้ออกห่างสัตว์ที่ชัก เจ้าของสัตว์ควรอยู่กับสัตว์ตลอดเวลา นวดและปลอบจนกว่าสัตว์จะหยุดอาการชัก และจับระยะเวลาการชัก จากนั้นนำสัตว์ไปพบสัตวแพทย์ทันที หลังจากชักแล้วกันสัตว์ให้ห่างจากบันไดจนกว่าจะแน่ใจว่าสัตว์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว จึงให้ดื่มน้ำถ้าสัตว์ต้องการ เจ้าของควรเตรียมตัวไว้เพราะภายหลังการชักสัตว์อาจจะร้องหรือหอน ภายหลังการชักสัตว์จะอยู่ในภาวะสับสน ให้พูดกับสัตว์เลี้ยงด้วยเสียงนุ่มนวล ถ้าสัตว์ไม่หยุดการชักภายใน 5 นาทีให้รีบส่งสัตวแพทย์ Severe Mats (สังกะตัง) ขนพันกันเป็นก้อนมักจะเกาะแน่นกับผิวหนัง การสางออกเป็นไปได้ยากและต้องระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากท่านอาจตัดผิวหนังสัตว์โดยบังเอิญระหว่างการตัดหรือสางขน วิธีที่ดีให้ใช้หวีสอดเข้าระหว่างก้อนขนและผิวหนังแล้วจึงตัดด้านขนอย่าตัดทางด้านผิวหนัง ถ้าเห็นว่าหนักหาสาหัสเกินกว่าจะทำได้ด้วยตนเองให้พาไปให้ช่างตัดขนสัตว์จัดการจะดีกว่า Shock (ช๊อก) สัตว์ที่บาดเจ็บหรือป่วยอาจเกิดอาการช๊อกได้ แต่ส่วนมากมักเกิดเนื่องจากการประสบอุบัติเหตุ ต้องสังเกตอาการว่าสัตว์หายใจหรือไม่ ถ้าหยุดหายใจให้ช่วยด้วยการผายปอด จัดให้สัตว์อยู่ในที่สงบ ถ้ามีบาดแผลให้ปิดด้วยผ้าสะอาด ห้ามเลือดแล้วรีบนำส่งสัตวแพทย์ Smoke Inhalation (สำลักควัน) ให้พาสัตว์ออกให้ห่างจากบริเวณที่ไฟไหม้เร็วที่สุด แต่อย่าถึงกับเสี่ยงชีวิตเจ้าของสัตว์เองเพื่อช่วยชีวิตสัตว์ ถ้ามีออกซิเจนให้จัดการให้ออกซิเจนกับสัตว์เพื่อลดปริมาณคาร์บอนมอน๊อกไซด์แล้วรีบส่งโรงพยาบาลสัตว์โดยด่วน Snake Bite (งูกัด) เมื่อสัตว์เลี้ยงถูกงูกัดให้รีบพาไปหาสัตวแพทย์โดยด่วนพร้อมทั้งซากงู และพยายามให้สัตว์เคลื่อนไหวให้น้อยที่สุดเพื่อป้องกันการแพร่ของพิษงู Sprain (เจ็บขา) สาเหตุของการเจ็บขามีมาก อาการมีตั้งแต่เจ็บเล็กน้อยไปจนถึงกระดูกหัก วิธีที่ดีที่สุดคือพาไปหาสัตวแพทย์เพื่อหาสาเหตุของการเจ็บขา และควรพักไม่ให้สัตว์เลี้ยงวิ่งหรือเดินโดยไม่ใส่สายจูง ควรประคบเย็นคราวละ 5 – 10 นาทีทุก 6 – 8 ชั่วโมง ในวันแรก ไม่ควรให้ยาแก้ปวดเอง เนื่องจากเป็นพิษกับสัตว์เลี้ยง Sprayed by Mace or Pepper Spray (โดนสเปรย์ที่ทำให้ระคายเคืองหรือสเปรย์พริกไทย) ถ้าสัตว์เลี้ยงถูกสเปรย์หรือสารที่ทำให้เกิดอาการระคายเคือง เช่น ผิวส้ม ให้รีบล้างน้ำบริเวณที่โดนด้วยน้ำมากๆ เพื่อลดอาการระคายเคืองและความเจ็บปวด ถ้าสัตว์ยังมีอาการระคายเคืองให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์ โดยเฉพาะเคืองตามากๆ บางรายอาจถึงขั้นตาบอด String or Tinsel (ถูกลวดโลหะ, ด้าย, เชือก) ถ้าเห็นสิ่งที่มีลักษณะเป็นเส้นคล้ายเชือกหรือด้ายออกมาจากปากหรือก้นสัตว์เลี้ยง อย่าพยายามดึงออก ให้รีบพาสัตว์เลี้ยงไปหาสัตวแพทย์ ซึ่งมักต้องอาศัยการผ่าตัดเพื่อเอาออก อักษร S – U Stupor (อาการหมดสติหรือกึ่งหมดสติ) ถ้าพบสัตว์เลี้ยงอยู่ในภาวะกึ่งหมดสติหรือมึนงง ให้พาสัตว์ไปไว้ในที่ปลอด ภัยและพยายามให้นอนตะแคงข้าง ถ้าเกิดเนื่องจากอุบัติเหตุให้สัตว์นอนบนกระดานแล้วพันด้วนผ้าก่อนการเคลื่อนย้าย ถ้าเกิดจากสารพิษให้พยายามหาภาชนะบรรจุไปด้วย ก่อนพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์ Sunburn (แดดเผา) ถ้าสัตว์เลี้ยงถูกแดดเผาให้ประคบเย็นบริเวณที่ถูกแดดเผา ถ้าสัตว์เจ็บมากให้ดูว่ามีแผลแตกหรือพุพองหรือไม่ ให้ทำแผลทุกวันและทายา Swelling or Allergic Reaction (บวม หรือ แพ้) อาการแพ้อาจเป็นเพียงเล็กน้อยหรือรุนแรง และไม่สามารถทำนายล่วงหน้าได้ ถ้าพบว่าสัตว์แพ้ให้สังเกตดูว่าสัตว์มีอาการช๊อกหรือไม่ หายใจลำบากหรือเปล่า ถ้าเห็นสิ่งที่สัตว์แพ้ เช่น เหล็กไนตัวต่อ ให้เอาออก พาไปพบสัตวแพทย์เพื่อรับยาแก้แพ้ Ticks (เห็บ) มักไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน พยายามจับเห็บออกให้หมด เห็บที่เก็บออกมาไม่ควรบี้หรือบีบเพราะจะยิ่งทำให้ไข่เห็บกระจายออกมามาก ให้แช่เห็บในน้ำยาฆ่าเห็บ ถ้ามีเห็บในปริมาณมากต้องรีบกำจัดออกให้หมดเพราะเห็บนำโรคมาให้สัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะพยาธิ์เม็ดเลือด การกำจัดเห็บให้ปรึกษาสัตวแพทย์ประจำของท่าน Toad Venom Toxicity (พิษคางคก) เราพบคางคกได้ทั่วไปตามสนามหญ้าในบ้านและนอกบ้าน และสัตว์เลี้ยงชอบที่จะไปเล่นกับคางคกด้วยความอยากรู้อยากเห็น บางครั้งกัดคางคกทำให้เกิดอาการน้ำลายยืด แต่บางครั้งถ้าแพ้มากลิ้นอาจจะบวมคับปากกรณีหลังนี้ต้องรีบพาไปพบสัตวแพทย์ ถ้าสัตว์เลี้ยงของท่านโดนพิษคางคกให้รีบล้างปากและลิ้นด้วยน้ำมากๆ เพื่อล้างพิษออก Tooth Problem (ปัญหาเดี่ยวกับฟัน) ควรรีบพาไปหาสัตวแพทย์ เพื่อขูดหินปูนและจัดการกับฟันที่เป็นปัญหาตามสาเหตุและสภาพฟัน Torn or Bleeding Nails (เล็บหลุดหรือฉีกหรือเลือดออก) เล็บฉีกเป็นกรณีที่เจ็บมาก และควรระวังสัตว์เลี้ยงกัดเพราะความเจ็บถ้าท่านไปยุ่งเกี่ยวกับเล็บ ขั้นแรกเลยท่านเจ้าของต้องพยายามห้ามเลือดโดยใช้ยาห้ามเลือด ถ้าไม่มีให้ลองใช้แป้งข้าวโพด ถ้าเลือดไม่หยุดควรพาไปให้สัตวแพทย์จัดการเนื่องจากเลือดออกที่เล็บหยุดยากมาก เล็บที่หลุดออกเกือบหมดเหลือติดอยู่เพียงนิดเดียวให้ลองดึงออกโดยดึงแรงๆ และเร็วๆเพื่อไม่ให้เจ็บมาก ถ้าไม่หลุดให้ใช้ที่ตัดเล็บสำหรับสัตว์ตัดออก ตรงปลายเล็บจะมีกระดูกอยู่ก่อนถึงตัวเล็บต้องระวังอย่าให้กระดูกส่วนนี้เสียหาย ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อจัด การเอาเล็บออก เมื่อเอาเล็บออกแล้วควรล้างเล็บด้วยน้ำอุ่นเพื่อล้างเอาสิ่งสกปรกออกโดยเฉพาะตรงซอกเล็บ แล้วพันด้วยผ้าพันแผลไว้เพื่อป้องกันเลือดออก ระวังอย่าพันแน่นเกินไปเพราะจะทำให้เกิดเนื้อตายเนื่องจากขาดเลือด พันขาไว้สักประมาณ 12 24 ชั่วโมงก็ให้เอาผ้าพันแผลออก ทาแผลด้วยยาปฏิชีวนะแล้วรอให้เล็บใหม่งอกมาแทนที่ Trouble Breathing (ปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ) สัตว์ที่หายใจลำบากเป็นกรณีฉุกเฉินที่ต้องรีบนำสัตว์ส่งโรงพยาบาล ควรบอกรายละเอียดของประวัติกับสัตวแพทย์อย่างละเอียด เช่น กินอาหารได้ปกติหรือไม่, เหนื่อยง่ายหรือไม่, หายใจลำบากมากหรือไม่, มีอาการไอ ฯลฯ ถ้ามียาที่ใช้ให้นำไปให้สัตวแพทย์ดูด้วยว่าเป็นยาอะไร Trouble Urinating (ปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ) การปัสสาวะจะทำให้สัตว์มีสุขภาพปกติ ปัสสาวะมีส่วนประกอบหลายอย่างที่ไตกรองออกมา ซึ่งเป็นของเสียที่ร่างกายต้องการกำจัดออก ถ้าไม่มีปัสสาวะของเสียจะสะสมในเลือดเป็นสาเหตุของการป่วย เจ้าของสัตว์ต้องสังเกตอาการว่าสัตว์เลี้ยงของท่าน กินอาหารปกติหรือไม่, ปริมาณปัสสาวะที่ออกมาในแต่ละวันว่ามากหรือน้อยหรือปกติ,ร่าเริงเป็นปกติหรือซึมหรืออ่อนเพลีย ฯลฯ ถ้าสัตว์ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะลำบากให้รีบพาสัตว์ไปพบสัตวแพทย์โดยด่วนเพื่อหาสาเหตุ Undesired Mating (ผสมกันโดยไม่ตั้งใจ) การผสมพันธุ์กันเองโดยไม่เป็นที่พึงประสงค์ของเจ้าของ เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยมาก การใช้ยาเพื่อป้องกันการผสมติดมีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก่อให้เกิดอาการข้างเคียงค่อนข้างมาก และไม่มียาชนิดใดที่ได้ผลสำหรับการป้องกันการผสมติดในทุกรณี ทางที่ดีถ้าไม่ต้องการให้สัตว์มีลูกพาสัตว์เลี้ยงของท่านไปทำหมันเสียจะดีกว่า อักษร V – Z Vaginal Discharge (มีของเหลวออกมาจากอวัยวะเพศ) ให้สังเกตว่าของเหลวนั้นเป็นหนองหรือเลือด พาสัตว์เลี้ยงของท่านไปพบสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่าสาเหตุมาจากอะไร สัตว์ที่ไม่ได้ทำหมันอาจเป็นสัดและมีเลือดออกมาทาง อวัยวะเพศและมีการบวมของอวัยวะเพศ แต่ถ้าเป็นหนองก็มักเป็นอาการของช่องคลอดอักเสบหรือมดลูกอักเสบ หรือถ้าทำหมันแล้วยังมีเลือดออกมาทางอวัยวะเพศต้องตรวจหาสาเหตุ Vomiting and Diarrhea (อาเจียน และ ท้องเดิน) ถ้าสัตว์อาเจียนและท้องเดินให้งดอาหาร 3 – 4 ชั่วโมง เมื่อเห็นว่าสัตว์หยุดอาเจียนและท้องเดินแล้วให้ลองให้น้ำเล็กน้อยสัก 2 ช้อนชาทุก 20 นาทีจนกระทั่งสัตว์ไม่แสดงอาการขาดน้ำ จึงค่อยให้อาหารอ่อน ๆ เช่น อาหารปั่นละเอียด เช่น โจ๊กหรือข้าวต้มเปล่า ๆ ก่อน โดยให้ในปริมาณเล็กน้อย ถ้าไม่มีอาเจียนจึงค่อยให้หมูหรือไก่บดต้มจนเปื่อยหรือตุ๋นจนนิ่มแล้วเพื่อเป็นแหล่งโปรตีน ถ้าสัตว์กินได้ประมาณ 2 – 3 วันค่อยกลับไปให้อาหารตามปกติ ถ้าสัตว์ไม่มีอาการดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังแสดงอาการควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์ Dr. Debra Primovic |