สุนัขที่เห่ามากเกินไป ( Excessive Barking)

11575 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บทความพิเศษ
โดย โรงพยาบาลสัตว์ เอ็น.พี.

สุนัขที่เห่ามากเกินไป ( Excessive Barking)

 

            สุนัขที่เห่ามากความจริงเป็นพฤติกรรมปกติของสุนัข แต่มักสร้างปัญหาให้กับเจ้าของคือรบกวนเพื่อนบ้าน นอนไม่หลับ เจ้าของสัตว์หงุดหงิด และอาจถูกร้องเรียนได้  ในต่างประเทศอาจถูกบังคับให้ทำลายสุนัขทิ้งเสีย  สุนัขเห่าเนื่องจากมีสิ่งมากระตุ้น และบางพันธุ์จะปากเบาเห่ามากกว่าพันธุ์อื่น บางตัวมีการหอนร่วมด้วย

 

            การแก้ปัญหาสุนัขเห่าต้องทราบสาเหตุที่ทำให้สุนัขเห่าก่อน ซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่น ความกังวลที่จะอยู่โดดเดี่ยว (Separation anxiety) สุนัขที่ถูกแยกจากเจ้าของมักเห่าหรือทำเสียงครวญคราง บางตัวอาจทำลายข้าวของหรืออุจจาระปัสสาวะรดข้าวของในบ้านเรี่ยราด อาการเห่ามักเกิดหลังจากที่เจ้าของออกนอกบ้านและเห่าต่อเนื่องกันนานหลาย ๆ ชั่วโมง 
            ตอบสนองต่อสิ่งเร้าบางอย่าง  การเห่าแบบนี้เป็นการเห่าในเหตุการณ์เฉพาะ เช่น มีแขกมาเยือน, มีคนมาส่งของ, มีสุนัขหรือแมวแปลกหน้ามา, เห็นสัตว์แปลก ๆ เช่นกระรอก, หรือเห่าเสียงแปลก ๆ ที่ได้ยิน  การเห่าแบบนี้สุนัขมักตื่นตัว, แสดงอาการป้องกันตัวเองหรือแสดงอาการกลัว  ซึ่งแตกต่างจากสุนัขที่กลัวการอยู่ตัวเดียว (Separation anxiety) ตรงที่การเห่าในกรณีนี้เป็นการเห่าที่เจ้าของอยู่ในบ้านด้วย และจะหยุดเห่าเมื่อสิ่งแปลกปลอมหายไป เช่น กรณีบุรุษไปรษณีย์มาส่งจดหมายสุนัขจะหยุดเห่าเมื่อบุรุษไปรษณีย์จากไป แต่ในความคิดของของสุนัขจะเข้าใจว่าเป็นเพราะสุนัขเห่าบุรุษไปรษณีย์จึงจากไป จึงทำให้กล้าที่จะเห่าทุกครั้งที่มีบุรุษไปรษณีย์หรือคนแปลกหน้ามา การเห่าแบบนี้อาจทำให้เกิดการเห่าแบบลูกโซ่ คือ สุนัขบ้านอื่นก็เห่าตามด้วย
           เห่าเพื่อเรียกร้องความสนใจ  (Attention seeking) สุนัขบางตัวก็เห่าเมื่อเจ้าของไม่สนใจเป็นการเรียกร้องให้เจ้าของมาให้ความสนใจ การเห่าแบบนี้อาจมีการตะกุยหรือกระโดดร่วมด้วย ถึงเจ้าของจะดุหรือว่าสุนัขก็อาจไม่หยุดพฤติกรรมเหล่านี้เพราะการดุหรือว่าก็ถือว่าเป็นการได้รับความสนใจจากเจ้าของ 
          เห่าเพื่อเล่น  การเห่าบางครั้งสุนัขก็เห่าเพื่อเล่นด้วย  การเห่าแบบนี้สุนัขมักเดินเข้ามาหาคนหรือของเล่น หรือสัตว์ตัวอื่น  เช่น  คาบลูกบอลมาให้เจ้าของแล้วเห่าเพื่อให้เจ้าของเล่นด้วย  เมื่อเจ้าของปาลูกบอลสุนัขก็จะหยุดเห่าแล้ววิ่งไปเก็บลูกบอล  แล้วทำซ้ำอีกเป็นการเรียนรู้ว่าเห่าแล้วเจ้าของจะปาลูกบอลเล่นด้วย


          เห่าเนื่องจากมีปัญหาทางร่างกาย  เช่น  สุนัขอายุมากแล้วหูหนวกหรือมีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้  หรือมีปัญหาเกี่ยวกับสมองมักเห่ามากกว่าปกติ  สุนัขที่เจ็บปวดก็อาจจะเห่าได้เช่นกัน
         ดังนั้นเพื่อหาสาเหตุการเห่าต่าง ๆ จึงควรตรวจร่างกายสุนัขอย่างละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่าสุนัขไม่ได้มีปัญหาทางกาย  อาจต้องทำการตรวจเลือด  โดยเฉพาะในรายที่ต้องใช้ยาร่วมด้วย
         เจ้าของต้องตอบปัญหามากมาย  ในต่างประเทศจะมีนักพฤติกรรมสัตว์เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับด้านนี้โดยเฉพาะ  ซึ่งนักพฤติกรรมสัตว์จะถามคำถามเพื่อค้นหาสาเหตุของการเห่าเพื่อหาวิธีแก้ไขต่อไป
เจ้าของต้องสังเกตพฤติกรรมสุนัขอย่างละเอียดว่าในภาวะใดบ้างที่สุนัขมีอาการเห่า เห่านานเท่าใด  เหตุใดจึงหยุดเห่า  อาจต้องตั้งกล้องวีดิโอเพื่อบันทึกกรณีสุนัขเห่าเมื่อเจ้าของไม่อยู่บ้าน 

จะจัดการอะไรได้บ้างในกรณีสุนัขเห่า
          การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเห่า ซึ่งขั้นตอนการรักษาส่วนใหญ่มีดังต่อไปนี้  หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้สุนัขเห่า เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำในหลาย ๆ กรณีที่สุนัขเห่า ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานในการละลายพฤติกรรม  วิธีการนี้ช่วยได้มากในหลายกรณี  เช่น  การเห่าเพราะกลัวโดดเดี่ยว เห่าเพราะหวงอาณาเขต หรือเห่าเพื่อป้องกันตัวเอง 
          การละลายพฤติกรรม  วิธีนี้คือการไม่สนใจเมื่อสุนัขเห่าเพื่อเรียกร้องความสนใจ  วิธีการนี้ต้องอดทนเพราะบางครั้งสุนัขจะเห่าอยู่มาก ๆ นานหลาย ๆ วัน บางตัวเห่าได้ทั้งวันทั้งคืน  คงต้องทำความเข้าใจกับเพื่อนบ้านก่อน  สุนัขจะเรียนรู้เองว่าถึงจะเห่าเท่าไรก็ไม่มีใครให้ความสนใจและให้ในสิ่งที่สุนัขเรียกร้อง  เจ้าของต้องไม่เข้าไปดุ พูดกับสุนัข ปลอบ สบตากับสุนัข ฯลฯ  เพราะจะเป็นการทำให้สุนัขเรียนรู้ว่าเห่าแล้วจะมีคนเข้ามาหา  สุนัขจะเห่าต่อไปไม่หยุดและจะพัฒนาไปเป็นการเห่าเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ
          การลงโทษ  เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่ใช้ในการแก้ไขอาการสุนัขเห่าของเจ้าของสุนัข  อาจจะได้ผลในบางกรณีแต่บางกรณีจะไม่ได้ผล  โดยเฉพาะในรายที่สุนัขเห่าเนื่องจากความกลัวหรือกำลังกระวนกระวายประสาทเสียอยู่อาการจะยิ่งแย่ลง  (การลงโทษมักใช้ปลอกคอที่เรียกว่าโช้ค เช่น ปลอกคอกันเห่า ปืนหรือกระบอกฉีดน้ำ หรือเสียงดังๆ เช่น กระป๋องใส่เหรียญ นกหวีด) ในรายที่ได้ผลก็อาจใช้วิธีการนี้ได้ทุกครั้งที่มีการเห่า  การตวาดเสียงดังใส่สุนัขมักไม่ได้ผลเพราะบางครั้งสุนัขคิดว่าเจ้าของเล่นด้วย ปลอกคอกันเห่ามี 3 แบบใหญ่ๆ คือ เวลาสุนัขเห่าจะมีเสียงแบบอัลตร้าโซนิคที่คนไม่ได้ยินมารบกวนสุนัข  อีกแบบคือเวลาสุนัขเห่าแล้วจะมีกระแสไฟอ่อน ๆ ออกมาทำให้เหมือนถูกไฟอ่อนดูด  และแบบสุดท้ายคือเมื่อเห่าแล้วจะปล่อยละออกฝอยของน้ำมันที่ทำจากหญ้าหอม เช่น ตะไคร้ หรือผิวส้ม หรือมะนาว ซึ่งรสชาติจะแย่มาก ๆ สำหรับสุนัขและระคายเคือง (เคยมีสุนัขมาหาสัตวแพทย์ด้วยอาการตาอักเสบอย่างรุนแรงเนื่องจากโดนคนบีบเปลือกส้มใส่ตา) ปลอกคอที่มีการปล่อยสารพวกนี้เป็นประเภทที่ดูเหมือนจะได้ผลมากที่สุด ถ้าใช้อย่างถูกต้องและถูกวิธี ส่วนพวกที่ปล่อยกระแสไฟอ่อน ๆ ออกมามักใช้กับพวกที่ก้าวร้าวมาก ๆ  เครื่องมือเหล่านี้ไม่ควรใช้เป็นประจำทุกครั้งที่สุนัขเห่า  ควรใช้วิธีการอื่น ๆ ร่วมด้วย
         วิธีการเผชิญหน้าและการละลายพฤติกรรม  เป็นวิธีที่นักพฤติกรรมสัตว์ใช้มากที่สุดวิธีหนึ่ง  วิธีการเผชิญหน้าเป็นวิธีที่ให้สุนัขพบกับสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการเห่า  การละลายพฤติกรรมเป็นการให้สุนัขเผชิญหน้ากับสิ่งที่ทำให้เห่าแต่ลดระดับให้อ่อนลง  แล้วจึงค่อยเพิ่มระดับการเผชิญหน้าให้มากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นลำดับ ตังอย่างเช่น  สุนัขของท่านเห่าเมื่อเห็นสุนัขแปลกหน้าวิธีการนี้ใช้โดยให้สุนัขสนใจตัวคุณมากกว่าสุนัขตัวอื่นโดยการให้อาหารหรือของกินเล็กน้อย  โดยให้สุนัขแปลกหน้าอยู่ในระยะห่างก่อนแล้วค่อยลดระยะห่างของสุนัขแปลกหน้าลงเรื่อย ๆ ขั้นแรก ๆ อาจใช้สุนัขที่เคยเห็นกันมาก่อนแล้วจึงใช้สุนัขแปลกหน้า
          การเบี่ยงเบนพฤติกรรมสุนัข  วิธีการนี้โดยท่านต้องชมหรือตบไหล่เพื่อให้รางวัลสุนัขทุกครั้งที่สุนัขไม่เห่าเมื่อเจอกับสิ่งที่กระตุ้นให้สุนัขเห่า  ควรฝึกให้สุนัขรู้จักคำว่าหยุดหรือเงียบร่วมด้วยเมื่อสุนัขทำตามให้รางวัลกับสุนัข
          การใช้ยาเพื่อลดพฤติกรรม  ในรายที่เกิดเนื่องจากความกลัวที่จะอยู่โดดเดี่ยว  อาจต้องมีการให้ยาร่วมด้วย เช่น ยาคลายเครียด
          การตัดกล่องเสียง  สัตวแพทย์หลาย ๆ ท่านไม่นิยมใช้วิธีการนี้เนื่องจากบางรายไม่ได้ผล รายที่ได้ผลสุนัขจะเห่าเสียงแหบๆ วิธีการนี้เป็นวิธีที่นักพฤติกรรมสัตว์ยังสงสัยถึงผลที่ได้รับอยู่ เนื่องจากสาเหตุการเห่ามีมากมายการรักษาจึงต้องขึ้นกับสาเหตุ ถ้ายังไม่ได้รับการแก้ไขทางที่ดีเจ้าของสุนัขควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นให้สุนัขเห่า เช่น เก็บสุนัขไว้ในบ้าน ปิดประตูหน้าต่างเพื่อลดเสียงจากภายนอก  รวมทั้งการให้สุนัขอยู่ห่างจากประตูและหน้าต่าง การใช้ปลอกคอกันเห่าเป็นประจำอาจทำให้สุนัขเห่ามากขึ้นจึงควรใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

Drs. J. Michelle Posage & Amy Marder

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้