โรคลมชัก (Idiopathic Epilepsy in Dogs)

21207 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บทความพิเศษ
โดย  โรงพยาบาลสัตว์ เอ็น.พี

โรคลมชัก (Idiopathic Epilepsy in Dogs)


                  โรคลมชักเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิด  เข้าใจว่าเป็นกรรมพันธุ์หรือความผิดปกติแต่กำเนิด  อาการชักเกิดเนื่องจากกระแสไฟฟ้าในสมองเพิ่มมากกว่าปกติในทันทีทันใด  ทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อเป็นชุดต่อเนื่อง, พฤติกรรมและการรับรู้ผิดไปจากปกติ  ซึ่งอาจเกิดร่วมกันทุกอย่างที่กล่าวมาก็ได้  ประมาณว่าสุนัขประมาณ 2-3% เป็นโรคลมชัก  และอายุที่เกิดอาการมักอยู่ระหว่าง  1-5  ปี  และอาจเกิดอาการโรคลมชัดเมื่อใดก็ได้ทั้งที่ไม่เคยมีประวัติการชักมาก่อน
                อาการชักแตกต่างกันออกไป  บางรายแค่มีอาการกระตุกที่ใบหน้าไปจนถึงล้มลงไปนอนชัก, เห่า, กัดฟัน,ปัสสาวะราด, อุจจาระไม่รู้ตัว, และทำท่าตะกายเหมือนเดิน  
                 อาการชักเฉพาะที่ (Partial or Focal epilepsy)  เป็นเพราะจำนวนเซลล์ประสาทที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการชักมีไม่มาก  อาการชักทั้งตัว (Generalized epilepsy)  เป็นเพราะจำนวนเซลล์ประสาทจำนวนมากมาเกี่ยวข้องกับการชัก  สุนัขประมาณ 50-60% ที่เป็นโรคลมชักมักจะชักทั้งตัว
 การชักมักเกิดทันทีและหยุดเอง  ระยะเวลาในการชักอาจเป็นเพียงไม่กี่วินาทีจนถึงหลาย ๆ นาทีอาจถึง 30 นาที  ถ้าชักนานเกินกว่านี้สมองอาจถูกทำลายถาวร   โรคนี้เป็นได้กับสุนัขทุกพันธุ์รวมทั้งสุนัขพันธุ์ผสมด้วย  บางพันธุ์พิสูจน์แล้วว่าเกิดเนื่องจากถ่ายทอดมาทางกรรมพันธุ์  ได้แก่  เยอรมันเชพเพอร์ด, กีส์ฮาวด์,  เบลเยี่ยมเทอวูเร็น, บีเกิ้ล, ไอริชเซ็ทเทอร์, เซนต์เบอร์นาร์ด, พูเดิ้ล,  ค๊อกเกอร์สแปเนี่ยล, ไวย์แฮร์ฟ๊อกเทอร์เรีย, ลาบราดอร์และโกลเด้นท์รีทรีฟเวอร์
                 เนื่องจากเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์  สุนัขที่เป็นโรคนี้จึงไม่ควรนำมาผสมพันธุ์ขบวนการชัก แบ่งออกเป็น  3  ระยะ คือ
                ระยะออร่า (Aura)  จะแสดงอาการของการจะเริ่มชัก  เช่น  กระสับกระส่าย, ตัวสั่น, เดินเป็นวง, ร้องครางในลำคอ (ร้องหงิ๋งหงิ๋ง), น้ำลายไหลมากกว่าปกติ, วิ่งพล่านหรืออาจหาที่หลบซ่อนตัว อาการอย่างนี้อาจมีระยะเวลาเพียงไม่กี่วินาทีจนถึงยาวเป็นวัน ซึ่งเจ้าของอาจไม่สังเกตเห็น  
                ระยะอิกตัส (Ictus)  เป็นระยะที่สุนัขจะชัก  ระยะเวลาการชักอาจมีเพียงไม่กี่วินาทีจนถึงยาวหลาย ๆ นาที  การชักอาจเป็นเพียงเฉพาะบางส่วนหรือล้มลงนอนชัก  น้ำลายจะไหลออกมามาก  ไม่สามารถควบคุมอุจจาระและปัสสาวะได้
               ระยะสุดท้ายเป็นระยะฟื้นตัว (Postictial stage) ระยะนี้เป็นระยะหลังจากเมื่อชักเสร็จสุนัขจะเกิดอาการมึนงงเดินไม่ตรงทาง และไร้จุดหมาย น้ำลายอาจจะยังยืดอยู่ ส่วนมากจะยังจำเจ้าของไม่ได้และไม่รับรู้คำสั่งใดๆ บางรายอาจเข้าหาเจ้าของเพื่อหาความอบอุ่นใจ ระยะเวลาการฟื้นตัวอาจเพียงไม่กี่นาทีจนถึงนานเป็นสัปดาห์ สุนัขอาจแสดงอาการให้เห็นชัดเจนทั้ง 3 ระยะหรือไม่ก็ได้
                มีโรคหลายโรคที่ทำให้เกิดอาการชักทั้งในสุนัขและแมว  เช่น ความผิดปกติของโครงสร้างบางอย่าง เกิดเนื่องจากเชื้อไวรัส โรคไข้หัดสุนัข โรคจากเชื้อราบางชนิด (Fungal disease) เช่น สมองอักเสบ โรคพิษสุนัขบ้า ฝีในสมอง อุบัติเหตุบริเวณศีรษะเนื้องอกในสมอง เส้นเลือดสมองอักเสบ มีน้ำในสมอง โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติของ เมตาบอลิซึม แคลเซียมในเลือดต่ำ น้ำตาลในเลือดต่ำ โรคตับ โรคไตวาย  โซเดียมในเลือดต่ำ ออกซิเจนในเลือดต่ำ ขาดไวตามิน บี ได้รับสารพิษ (Poisoning) เช่น สตริกนีน ตะกั่ว organophosphorus หรือ carbamate (ยาฆ่าแมลง) สารประเภทต้านการแข็งตัวของน้ำ ตะกั่ว
การปฏิบัติตัวของเจ้าของเมื่อสุนัขเกิดอาการชัก
                เจ้าของสัตว์ต้องไม่ตกใจเมื่อเห็นสุนัขชัก  เพราะสุนัขไม่มีสติและไม่ได้ทรมาน  อาจมีการหยุดหายใจชั่วครู่ระหว่างที่ชัก ให้จับเวลาการชักของสุนัขและระยะเวลาต่างๆ อย่างละเอียด  เจ้าของอาจจะรู้สึกว่ามันยาวนานทั้งที่เป็นเวลาเพียงแค่ 30 วินาทีเท่านั้น
             ป้องกันการทำร้ายตัวเองของสุนัขขณะชัก  โดยเคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์หรือสิ่งที่คิดว่าเป็นอันตรายออกห่างจากตัวสุนัข  รวมทั้งให้สุนัขอยู่ห่างจากน้ำ บันได และของมีคม  หาหมอนมารองหัวสุนัขเพื่อกันหัวฟาดเวลาชัก  
                 สังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ของสุนัขก่อนและหลังการชัก  สังเกตอาการของกล้ามเนื้อขณะชัก  เพื่อบอกสัตวแพทย์เพื่อทำการบันทึกลงประวัติ
                 ถ้ามีการชักเกิน 5 นาทีต้องรีบส่งสัตว์ไปยังโรงพยาบาลหรือคลินิกทันที ระวังอย่าเอามือไปใกล้บริเวณปากสุนัข  เพราะคุณอาจจะโดนกัดโดยที่สุนัขไม่รู้สึกตัวได้  และไม่ควรเอาช้อนหรือซ่อมไปคาปากสุนัขไว้ กันเด็กให้ห่างจากสุนัขที่กำลังจะชักหรือกำลังชัก เจ้าของควรจะอยู่กับสุนัขตลอดเวลา  เพื่อจะได้คอยควบคุมให้สุนัขอยู่ในอาการสงบ
               ภายหลังการชักให้สังเกตอาการหลังหารชักเพื่อรายงานสัตวแพทย์  อย่าให้สุนัขเดินขึ้นลงบันไดจนกว่าจะเป็นปกติ  ให้น้ำกินได้ถ้าสุนัขต้องการ
               สุนัขอาจร้องหรือมีอาการเดินเปะปะภายหลังการชัก  ต้องคอยพยุงตัวสุนัขและระวังสุนัขกัดเพราะสุนัขกำลังมึนงง  พูดกับสุนัขด้วยน้ำเสียอ่อนโยน      ถ้า  30  นาทีแล้วสุนัขยังไม่กลับเป็นปกติให้ปรึกษาสัตวแพทย์
              อาการที่ควรนำส่งสัตวแพทย์ ชักนานเกินกว่า 10 นาที ชักมากกว่า 2 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง มีการชักต่อเนื่องภายหลังการชักครั้งแรกแล้วสุนัขยังไม่ทันหายเป็นปกติ
             การวินิจฉัย เนื่องจากโรคลมชักยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอน อาจต้องมีการตรวจสุขภาพสัตว์เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีโรคอื่นใดที่เป็นสาเหตุของการชัก  การตรวจทั่วไปด้วยการซักประวัติ, ตรวจค่าเคมีในเลือด, ตรวจนับเม็ดเลือด, ตรวจปัสสาวะและอุจจาระ
            การรักษา เป้าหมายของการรักษาเพื่อลดความรุนแรงและความถี่ในการชักลง  และหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงจากยา  บางตัวอาจต้องเลือกชนิดของยาที่ใช้เพราะอาจแพ้ยากันชัก
ยาที่ใช้ป้องกันอาการชัก ฟีโนบาร์บิตอล เป็นยาที่ใช้ระงับอาการชักที่ได้ผลดีและมีราคาไม่แพง ปกติมักให้วันละ 2-3 เวลา  โดยการกินในขนาด 2.2 มก./กก. ไดอะซีแปม  เป็นยาที่ใช้บ่อยในการป้องกันอาการชักเช่นเดียวกัน โบรไมด์ มักอยู่ในรูปเกลือโปแตสเซี่ยมโบรไมด์ มักเป็นยาที่ใช้ร่วมกับฟีโนบาร์บิตอล  เนื่องจากสุนัขบางตัวไม่ตอบสนองต่อการใช้ฟีโนบาร์บิตอลเดี่ยว ๆ
            การดูแล ตรวจระดับยาในกระแสเลือดปีละครั้งเป็นอย่างน้อย  เพราะระดับยาในเลือดที่สูงกว่าปกติอาจทำให้ตับวาย สังเกตอาการชักทุกระยะแล้วรายงานให้สัตวแพทย์ทราบเพื่อการปรับเปลี่ยนขนาดยา การปรับเปลี่ยนขนาดยาเองอาจทำให้อาการชักรุนแรงขึ้น  ถ้ามีอาการอย่างที่กล่าวมาแล้ว เช่น ชักมากกว่า  2  ครั้งต่อวัน ฯลฯ ให้รีบส่งสัตวแพทย์
            ต้องเข้าใจว่าโรคลมชักไม่ได้ก่ออันตรายถึงชีวิตกับสัตว์ ยกเว้นไม่ได้รับยาอย่างสม่ำเสมอสุนัขอาจชักจนถึงตายได้  ดังนั้นจึงไม่ควรหยุดยาเพราะสุนัขบางตัวต้องได้รับยาไปตลอดชีวิต

Dr. John McDonnell



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้