โครงสร้างและหน้าที่ของตา

63340 จำนวนผู้เข้าชม  | 

 

บทความพิเศษ
สนับสนุนบทความโดย โรงพยาบาลสัตว์เอ็น.พี.

โครงสร้างและหน้าที่ของตา


หน้าที่ของตา
ตาทำหน้าที่ในการมอง ซึ่งประสิทธิภาพในการมองเห็นจะอยู่ที่การทำงานของอวัยวะของลูกตาหลายส่วนประกอบกัน เมื่อเรามองวัตถุแสงที่ตกกระทบวัตถุจะผ่านรูม่านตาสู่เลนส์ผ่านเข้าไปในช่องว่างภายในลูกตาไปยังจอประสาทตา
หน้าที่ของเลนส์คือ ปรับให้แสงจากวัตถุตกที่จอประสาทตาให้ชัดเจนที่สุด ภาพที่ตกที่จอประสาทตาจะเป็นภาพหัวกลับ ซึ่งสมองจะทำหน้าที่ในการแปลงภาพให้เห็นเหมือนภาพจริงไม่กลับหัว จอประสาทตาจะมีเซลล์สำหรับรับแสงนับล้าน ๆ เซลล์ที่มีรูปร่างเป็นแท่งและกรวย เรียกว่า Light receptors เซลล์รูปแท่งจะรับแสงในที่มืดหรือแสงน้อยได้ดี ส่วนเซลล์รูปกรวยจะรับสีและแสงที่สว่างกว่าได้ดี จอประสาทตาจะเปลี่ยนพลังงานจากแสงที่ได้รับให้เป็นกระแสไฟฟ้า ส่งผ่านไปยังเส้นประสาทตา (Optic nerve) ที่อยู่ด้านหลังตรงสู่สมอง สมองจะแปลสัญญาณไฟฟ้าที่ได้รับเป็นภาพหัวตั้ง

ตำแหน่งของตา
ตามีสองข้างคือซ้ายและขวาอยู่บริเวณกลางใบหน้าค่อนไปทางด้านบน ขนาดของตา รูปร่างของตาและเบ้าตาจะแตกต่างกันไปตามพันธุ์สุนัข ซึ่งการผสมพันธ์สุนัขเพื่อให้เกิดพันธุ์ใหม่ๆ มีมานับร้อยๆ ปีมาแล้ว รูปร่างและขนาดของเบ้าตาจึงแตกต่างกันออกไปมาก เช่น สุนัขพันธุ์หน้าสั้นอย่างเช่น ปั๊ก ปักกิ่ง บอสตันเทอร์เรีย บูลด๊อก เฟรนช์บูลด๊อก จะมีตาโตและเบ้าตาตื้นกว่าสุนัขพันธุ์หน้ายาว เช่น คอลลี่ โดเบอร์แมนพินเชอร์ และสุนัขตระกูลเซ็ทเทอร์ รวมทั้งรูปร่างของกะโหลกศีรษะก็แตกต่างกัน

โครงสร้างของตา
ตาประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชั้นรูปทรงกลมซ้อนกันอยู่ เรียกว่า Tunic โดยชั้นตรงกลางจะเป็นชั้นที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงมากเรียกว่า Vascular tunic, ชั้นในเป็นชั้นที่มีเส้นประสาทมาเลี้ยงเรียกว่า Nervous tunic ชั้นนอกเป็นเยื่อเหนียวเรียกว่า Fibrous tunic ชั้นนอกจะเป็นส่วนที่เรียกว่าตาขาว (Sclera) และกระจกตา (Cornea) ซึ่งกระจกตาเป็นส่วนที่โปร่งแสงอยู่ด้านหน้าสุดของตา ส่วนชั้นกลางที่มีเลือดมาเลี้ยงมากเรียกว่า Uveal tract เส้นเลือดจะสานกันเป็นร่างแหเรียกว่า Choroid ส่วนนี้จะบางมีสีเข้มเพราะมีเส้นเลือดมากอยู่ด้านหลังจอประสาทตา มีส่วนที่เรียกว่า Cliary body ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างน้ำในลูกตาเพื่อหล่อเลี้ยงเลนส์ลูกตา และม่านตาที่ช่วยในการปรับความเข้มของแสงโดยอาศัยการหดหรือขยายรูม่านตา รูม่านตาจะอยู่ตรงกลางทางด้านหน้าของตาเห็นเป็นสีดำ จอประสาทตาที่อยู่ด้านหลังลูกตาเป็นเส้นประสาทที่กระจายออกเป็นร่างแห ทำหน้าที่เหมือนกับฟิล์มรับภาพของกล้องถ่ายรูป เมื่อรับภาพแล้วจอประสาทตาจะแปลงภาพเป็นกระแสไฟฟ้าผ่านทางเส้นประสาทตาที่ออกไปทางด้านหลังลูกตาสู่สมอง
ภายในลูกตาแบ่งออกเป็นสามส่วน หรือสามช่อง คือ ช่องว่าในลูกตาส่วนหน้า Vitreous chamber และช่องว่างในลูกตาส่วนหลัง ช่องว่างในลูกตาส่วนหน้าจะอยู่ระหว่างกระจกตาและม่านตา ภายในบรรจุของเหลวใสที่สร้างจากซิลิอารี่บอดี้ เรียกว่า Aqueous humor ช่องว่างในลูกตาส่วนหลังอยู่ระหว่างม่านตากับเลนส์ลูกตาภายในมี Aqueous humor เช่นกัน ต่อจากนั้นจึงเป็น Vitreous chamber ซึ่งอยู่หลังเลนส์ลูกตาหน้าจอประสาทตา ภายในมีของเหลวหนืดคล้ายเจล เรียกว่า Vitreous ช่วยทำให้ลูกตาคงสภาพกลมอยู่ได้

ส่วนประกอบอื่นๆ ที่สำคัญของลูกตาได้แก่
เบ้าตา (Orbit) เป็นกระดูกที่เป็นที่อยู่ของลูกตาและทำหน้าที่ในการปกป้องลูกตาจากอันตราย
เปลือกตา (Eye lids) เป็นส่วนของผิวหนังบริเวณใบหน้าที่ทำหน้าที่ในการป้องกันลูกตาจากอันตราย ที่ขอบของเปลือกตาจะมีขนตาส่วนด้านในของเปลือกตาจะบุด้วยเยื่อชุ่มเรียกว่าเยื่อตาขาว ซึ่งปกติจะมีสีชมพู
หนังตาที่สาม (Nictitating membrane) มีเฉพาะในสัตว์ อยู่ทางด้านหัวตาภายในจะมีกระดูกอ่อนยึดต่อมน้ำตาอยู่ ทำหน้าที่ในการป้องกันลูกตาเช่นกันและช่วยสร้างน้ำตาบางส่วนประมาณ 40% ของน้ำตา
เยื่อตาขาว (Conjunctiva) เป็นเยื่อบางๆ ค่อนข้างโปร่งแสงมีเส้นเลือดมาเลี้ยงมาก ปกคลุมส่วยใหญ่ของลูกตาและด้านในของเปลือกตา
เลนส์ลูกตา (Lens) เป็นส่วนที่นิ่มและโปร่งแสง รูปร่างกลมและแบนด้านข้างอยู่ด้านหลังม่านตา ทำหน้าที่ในการปรับภาพและแสงจากรูม่านตาให้ตกพอดีที่จอประสาทตาเพื่อให้ได้ภาพชัดเจนที่สุด
ระบบสร้างน้ำตา (Lacrimal system) ประกอบด้วยต่อมสร้างน้ำตาหลักและต่อมสร้างน้ำตาที่หนังตาที่สาม ทำหน้าที่ผลิตน้ำตาเพื่อหล่อเลี้ยงลูกตา

โรคของตา
เนื่องจาตามีขนาดเล็กความผิดปกติของลูกตาจึงเป็นอันตรายต่อการมองเห็นอย่างมาก โรคของลูกตามีมากมายหลายโรค แล้วแต่ว่าเกิดที่ส่วนไหนของลูกตา ที่พบบ่อย คือ อุบัติเหตุ, เยื่อตาขาวอักเสบ (Conjunctivitis or red eyes), แผลที่กระจกตา (Corneal ulcer), กระจกตาอักเสบ (Keratitis) ยูเวียอักเสบ (Uveitis) ต้อหิน (Glaucoma) เกิดเนื่องจากความดันลูกตาสูงกว่าปกติ และโรคของลูกตาและจอประสาทตาอื่นๆ รวมทั้งเนื้องอกชนิดต่างๆ ที่อาจเป็นกับส่วนใดของลูกตาก็ได้

การตรวจและวินิจฉัยโรคตา
การตรวจลูกตาต้องใช้เครื่องมือเฉพาะหลายอย่างในการตรวจ เช่น กล้องส่องตา เครื่องมือวัดความดันลูกตา ไฟส่องตรวจตาโดยเฉพาะ เลนส์สำหรับตรวจจอประสาทตา ฯลฯ ซึ่งอาจทำที่คลินิกทั่วไปไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีการตรวจด้วยเครื่องมือและวิธีพิเศษอื่น ๆ เช่น
การย้อมสีกระจกตา (Fluorescein staining) เพื่อดูแผลที่กระจกตา
การวัดปริมาณน้ำตา (Schirmir tear test) เพื่อตรวจปริมานน้ำตา Slit lamp biomicroscopy เป็นกล้องขยายเพื่อตรวจดูส่วนใสของตา เช่น กระจกตา และเลนส์ เครื่องตรวจวัดความดันลูกตา (Tonometry)

โดย : Dr. Bari Spielman

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้