การขึ้นทะเบียนสุนัข

1790 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การขึ้นทะเบียนสุนัข
โดย ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล
เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA)

หลังจากที่ครม.เห็นชอบร่างกฎหมาย เลี้ยงหมาแมวต้องขึ้นทะเบียนฝ่าฝืนโทษปรับ 2.5 หมื่น สำหรับ
ข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวนั้น ขณะนี้ได้มีการเสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 โดยมีผู้ยื่นเสนอแก้ไข 2 กลุ่ม ประกอบด้วย

1. สนช. มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นและให้เจ้าของสัตว์นำสัตว์เลี้ยงมาขึ้นทะเบียน (เพิ่มเติมใน มาตรา 22/1) โดยถ้าเจ้าของสัตว์ฝ่าฝืนข้อบัญญัติท้องถิ่น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท (เพิ่มเติมในมาตรา 32/1) และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

2. กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะรัฐมนตรี มีสาระสำคัญคือกำหนดให้ราชการส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นและให้เจ้าของสัตว์มาแจ้งเพื่อขอขึ้นทะเบียน โดยกำหนดให้รายได้จากค่าธรรมเนียมและค่าปรับเป็นของราชการส่วนท้องถิ่น (เพิ่มหมวด 5/1 มาตรา 21/1 มาตรา 21/2และมาตรา 21/3) และให้กำหนดเพิ่มเติม นิยามเจ้าพนักงานท้องถิ่น (แก้เพิ่มมาตรา 7) โดยให้มีผลใช้บังคับ ภายใน 180 วันนับแต่การประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถ้าเจ้าของสัตว์ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 25,000 บาท และกำหนดอัตรา ค่าธรรมเนียม 1) คำร้องขอขึ้นทะเบียน ฉบับละ 50 บาท 2) สมุดประจำตัวสัตว์ ฉบับละ 100 บาท 3) เครื่องหมายประจำตัวสัตว์ ตัวละ 300 บาท

สาเหตุที่มาของการแก้ไข เนื่องจากสภาพปัญหาการทิ้งสุนัขและแมวในที่สาธารณะเป็นจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุอาจจะเกิดจากการที่เจ้าของไม่ประสงค์จะดูแล สัตว์เหล่านั้นจึงนำมาปล่อย อาจจะเกิดปัญหาสัตว์จรจัด โรคระบาดสัตว์และอันตรายที่เกิดจากสัตว์จรจัดนั้นและไม่มีผู้รับผิดชอบ
ซึ่งทั้งสองร่างนั้นหลังจากนี้ต้องผ่านความคิดเห็นของหน่วยงานที่รับผิดชอบ กฤษฎีกา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป หลังจากนั้นจะนำมาสู่การบรรจุเข้าวาระการประชุมเพื่อพิจารณารับหลักการในวาระที่ 1 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และต้องตั้งคณะกรรมมาธิการพิจารณา โดยใช้(ร่าง) แก้ไข ที่คณะรัฐมนตรีเสนอเป็นหลัก และใช้ (ร่างของสนช.พิจารณาร่วมด้วย) จึงจะประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

เมื่อพิจารณา ทั้งสองร่างแล้วพิจารณา เห็นว่า
1. การกระจายอำนาจให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นสิ่งที่ดี เพราะท้องถิ่นแต่ท้องถิ่นมีสภาพความแตกต่างที่หลากหลาย ตามบริบท ในเชิงพื้นที่วัฒนธรรมและวิถีชีวิต เช่น ปัญหาการเลี้ยงสัตว์ในเมืองและนอกเมืองมีความแตกต่างกัน การกระจายอำนาจก็เป็นเจตนารมณ์และจุดมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญและการปกครอง แต่ก็ต้องพิจารณาถึงความพร้อม ความเหมาะสม ศักยภาพ งบประมาณ และบุคลากร ของแต่ละท้องถิ่นด้วยโดยเฉพาะ ความรู้ความสามารถและประสบการณ์เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเรื่องสัตว์ในแต่ละท้องถิ่นด้วย

2. อัตราโทษ ปรับไม่เกิน 25,000 บาท สำหรับการไม่นำสัตว์มาขึ้นทะเบียน และ 450 บาทสำหรับค่าธรรมเนียมในการขึ้นทะเบียนสัตว์นั้นควรจะพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบ ถึงแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน มีมาตรฐาน เพราะถึงแม้จะเป็นอัตราที่สูงสุดก็ตาม (สามารถปรับได้ตั้งแต่ 1บาทถึง 25,000) แต่เมื่อพิจารณาอัตราโทษสูงสุด ก็ค่อนข้างสูงมาก อาจจะกระทบถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากจนเกินความจำเป็นโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและมีสัตว์อยู่ในครอบครองจำนวนมาก จะนำมาสู่ปัญหาการทิ้งสัตว์มากยิ่งขึ้น ดังนั้นถ้าจะมีการเปรียบเทียบปรับจริง หลังการประกาศใช้กฎหมาย 1 ปี ควรให้มีการนำสัตว์มาขึ้นทะเบียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจ หลังจากนั้นค่อยปรับในอัตราที่น้อยไปหาหนัก จะทำให้ประชาชนรับรู้ และมีความพร้อมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นมาตรการรองรับในเชิงรุกที่เป็นรูปธรรมจึงมีความสำคัญและจำเป็น โดยเฉพาะในเรื่องของความชัดเจนของกรอบอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ งบประมาณ บุคลากรและวิธีการจึงเป็นเรื่องที่สำคัญควบคู่กัน

3. การขึ้นทะเบียนสัตว์นั้น เป็นแนวทางหนึ่งของการแก้ปัญหาสัตว์เลี้ยง เพื่อให้เจ้าของสัตว์มีความรับผิดชอบต่อสัตว์ของตนและปฏิบัติต่อสัตว์และผู้อื่นได้อย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น และสำหรับสัตว์จรจัดจะได้มีผู้รับผิดชอบดูแล แต่ก็ต้องมีมาตรการอื่นควบคู่กับการขึ้นทะเบียนสัตว์ด้วย เช่น การทำหมันและฉีดวัคซีน การจัดสถานสงเคราะห์สัตว์ที่ได้มาตรฐานและการหาบ้านใหม่ให้สัตว์เหล่า และที่สำคัญต้องสร้างจิตสำนึกของความรับผิดชอบในการเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไป การแก้ไขปัญหาจึงจะได้ผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้